“กิตติรัตน์” เผยรัฐบาลเตรียมแก้ไขกฎหมาย “กบข.-ประกันสังคม” ส่วนแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท แม้จะต้องใช้เวลาในการชำระหนี้ 50 ปีข้างหน้า แต่ในระหว่างการก่อสร้างช่วง 7 ปีข้างหน้า เงินลงทุนก้อนนี้จะช่วยกระตุ้น ศก.ไทย เพิ่มสูงเป็น 100 ล้านล้านบาท พร้อมยอมรับว่า ธปท.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้สูงจนผิดธรรมชาติ จึงต้องการให้ลดลงจากระดับปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.75 เพราะต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากของสหรัฐฯ ถึง 9 เท่า ต้นเหตุเงินไหลเข้า และบาทแข็ง
กระทรวงการคลัง และสมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานสัมมนา “ระบบประกันรายได้ เพื่อการชราภาพ โอกาสและความยั่งยืน” นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เพื่อดูแลข้าราชการที่ครบกำหนดเกษียณอายุหลังการทำงาน รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสมทบให้แก่กองทุน กบข.สัดส่วนร้อยละ 20 เข้าสมทบในกองทุน กบข. และคาดว่าในปี 2578 จะต้องใช้เงินดูแลข้าราชการเกษียณอายุสูงถึง 800,000 ล้านบาท
จึงมองว่าจนถึงเวลาขณะนั้นคงจะหาเงินจำนวนดังกล่าวมาสมทบได้ยาก รัฐบาลจึงวางแผนส่งเงินสมทบเข้ากองทุน Sinking Fund ของ กบข. เพื่อจัดสรรในงบประมาณปี 57 กว่าหมื่นล้านบาท สะสมไปต่อเนื่องน่าจะได้หลายแสนล้านบาทรองรับความต้องการของข้าราชการ โดยต้องเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย กบข. เพื่อตั้งกองทุนดังกล่าวรองรับภาระในอนาคต
กรมบัญชีกลางเตรียมเปิดระดมความเห็นจากข้าราชการทั้งที่ทำงาน อยู่และเกษียณอายุไปแล้ว จากนั้นจะสรุปแนวทางทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุม ครม. และสภาในช่วงต่อไป แต่ยอมรับว่าข้าราชการที่เข้าเป็นข้าราชการแล้วเปลี่ยนมาเป็นสมาชิกของ กบข.ภายหลัง จะไม่เกิดการเสียเปรียบ เมื่อเทียบกับข้าราชการที่ไม่เข้าเป็นสมาชิก กบข.
สำหรับการดึงแรงงานเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อส่งเงินสมทบ ตามมาตรา 40 ของกองทุนประกันสังคม มองว่าแนวทางการดึงแรงงานเข้ากองทุนยังมีเพียง 1.7 ล้านคน ซึ่งควรทำได้ประมาณ 30 ล้านคน เนื่องจากเห็นว่าเงื่อนไขเดิมที่กำหนดไว้ เพื่อให้แรงงานตามกำหนดของกองทุนประกันสังคม เลือกแผนจ่ายเงินสมทบไว้ 2 แบบ คือ หากสมทบเงินเข้ากองทุน 100 บาทต่อเดือน แรงงานจ่ายเงิน 30 บาท รัฐบาลสมทบ 70 บาท
แนวทางที่ 2 หากจ่ายเงินเข้ากองทุน 150 บาท สำหรับ 50 หลัง แรงงานจ่ายสมทบ 30 บาท รัฐบาลสมทบ 20 บาท มองว่ายังดึงดูดผู้เข้าระบบดังกล่าวไม่เพียงพอ กระทรวงการคลังจึงเห็นร่วมกับกระทรวงแรงงานแก้ไขกฎกระทรวงแรงงาน เพื่อเพิ่มทางเลือกที่ 3 เพิ่มเติม ให้เหมือนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากลูกจ้างจ่ายสมทบเพิ่ม นายจ้างจ่ายเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
สำหรับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งได้ตั้งมาแล้วแต่ยังไม่เดินหน้า ยอมรับว่าควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อดึงคนอาชีพอิสระเข้ามาเป็นสมาชิก เพราะเงื่อนไขเดิม เช่น ผู้มีอาชีพอิสระ 15-30 ปี รัฐบาลสมทบให้ร้อยละ 50 เมื่ออายุ 30-50 ปี รัฐบาลสมทบให้ร้อยละ 80 ซึ่งควรแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกันกับกฎหมายกองทุนประกันสังคม
ส่วนแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท แม้จะต้องใช้เวลาในการชำระหนี้ 50 ปีข้างหน้า แต่ในระหว่างการก่อสร้างช่วง 7 ปีข้างหน้า เงินลงทุนดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศเพิ่มสูงเป็น 100 ล้านล้านบาท เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อม
สำหรับการดูแลค่าเงินบาท ยอมรับว่า ธปท.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้สูงจนผิดธรรมชาติ จึงต้องการให้ลดลงจากระดับปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.75 เพราะต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากของสหรัฐฯ อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 0.3 นับว่าเป็นส่วนต่างกันถึง 9 เท่า ทำให้เงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง และปัญหาดังกล่าวได้ส่งสัญญาณมาต่อเนื่องแล้ว