“สมจิตต์” เผย “ยิ่งลักษณ์” ดองกองทุนการออมแห่งชาติ ทำ ปชช.หมดโอกาสได้รับเงินบำนาญ แถมย่ำยีใจ ปชช. ส่อเค้าผ่านร่าง พ.ร.บ.กองทุนเอาใจอดีตสมาชิกรัฐสภา ประเคนงบฯ หนุนไม่ต่ำกว่าปีละ 400-500 ล้านบาท ปูด “บิ๊กโต้ง” เคยพูดชัดกองทุนการออมแห่งชาติเป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่หนุนเพราะเป็นนโยบายของ ปชป.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสายการเมือง สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวสมจิตต์ นวเครือสุนทร ภายใต้หัวข้อ เรื่องที่คนไทยต้องรู้ รัฐบาล “ไพร่” ดองบำนาญประชาชน ดันสวัสดิการผู้ทรงเกียรติ! ดังนี้
“กองทุนการออมแห่งชาติ” เริ่มต้นสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 54 ที่ผ่านมาและกำหนดไว้ในกฎหมายว่าภายใน 1 ปีนับจากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะต้องดำเนินการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์กำหนดทุนประเดิมกองทุนไว้ที่ 1 พันล้านบาท แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี กลับมีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้เพียงแค่ 225 ล้านบาทเท่านั้น ที่สำคัญคือ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เคยยอมรับอย่างชัดเจนว่า นโยบายกองทุนการออมแห่งชาติจะเป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐบาลนี้จะไม่ทำเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลประชาธิปัตย์
สิ่งที่คนไทยเสียประโยชน์จากการที่รัฐบาลไม่สานต่อ “กองทุนการออมแห่งชาติ”
1. แรงงานนอกระบบเกือบ 30 ล้านราย ที่ไม่อยู่ในระบบกองทุนสวัสดิการอื่นๆ ไร้หลักประกันรายได้ต่อไป
2. รัฐบาลจะต้องแบกรับภาระการเป็นสังคมผู้สูงอายุในอนาคตมากขึ้น หากไม่มีมาตรการการออมที่ประชาชนร่วมกับรัฐมารองรับล่วงหน้า
3. ประชาชนพลาดโอกาสที่จะได้รับสวัสดิการจากกองทุนนี้ซึ่งจะมีผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยของธนาคาร ซึ่งรัฐบาลรับประกันว่าจะไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน (เฉลี่ยจาก ธ.ออมสิน ธ.ก.ส. ธ.พาณิชย์ 5 แห่งใหญ่)
4. หมดโอกาสได้รับเงินสะสมของประชาชนที่รัฐบาลจะรับประกันผลตอบแทนให้ 50-1,100 บาทต่อเดือน หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ดองเรื่องไร้ความคืบหน้า
5. หมดโอกาสได้รับเงินบำนาญประชาชน ซึ่งหากคำนวณว่าสะสมเดือนละ 1,100 บาทตั้งแต่อายุ 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญประมาณ 10,795 บาทต่อเดือน
6. หมดโอกาสที่ทายาทจะได้รับเงินคงเหลือจากผู้เข้าร่วมกองทุนหากบุคคลดังกล่าวเสียชีวิต
ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ผลักดันกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อสร้างบำนาญให้กับประชาชน กลับผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ..... ซึ่งล่าสุดผ่านความเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภาแล้วด้วยคะแนนเห็นด้วย 49 ต่อ 27 เสียง และงดออกเสียง 23 เสียง เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา
สำหรับกองทุนดังกล่าว อดีตสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจะได้รับประโยชน์ ยกเว้นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่คณะกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับพ.ร.บ.กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งมีนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนมพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน กลับมีการประชุมเพื่อกำหนดวงเงินเดินหน้ากองทุนดังกล่าวแล้ว
ผู้ที่เป็นอดีตสมาชิกรัฐสภาจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรกคือ ผู้ที่เป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนปี 2543 ซึ่งไม่เคยส่งเงินเข้ากองทุนจะได้เบี้ยยังชีพเดือนละ 15,000 บาทจนกว่าจะเสียชีวิต โดยมีผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ 3,300 คน
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ส่งเงินเข้ากองทุนตั้งแต่ปี 2543- ปัจจุบัน ซึ่งเดิมหักเดือนละ 500 บาท แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้คาดว่าจะมีการหักเงินเดือนเข้ากองทุนคนละ 5% ของเงินเดือน โดยเฉลี่ยประมาณ 3,550 บาทต่อเดือน โดยปัจจุบันมีสมาชิกรัฐสภา 650 คน ก็จะมีเงินเข้ากองทุนประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือน เท่ากับปีละ 24 ล้าน ขณะเดียวกันจะมีเงินตั้งต้นจากรัฐบาล 500 ล้านเข้ากองทุนดังกล่าวด้วย และรัฐต้องจัดงบประมาณสมทบทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 400-500 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มที่สองนี้จะได้รับเบี้ยยังชีพตามอายุของการดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา จะได้เบี้ยยังชีพประมาณ 20-50% ของเงินเดือนสุดท้าย โดยจะคิดเป็นขั้นบันไดตามอายุที่ดำรงตำแหน่งสะสม เช่นถ้าเคยเป็นสมาชิกรัฐสภายาวนานถึง 21 ปี ก็จะได้ 50% ของเงินเดือนสุดท้ายเป็นต้น ซึ่งหากคิดตามอัตตราเงินเดือนล่าสุดจะได้เบี้ยยังชีพเดือนละ 35,500 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าหากกลับมาเป็นสมาชิกรัฐสภาอีกก็ไม่ถือว่าเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภาจะหมดสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพ โดยสามารถสะสมอายุต่อไปจนกว่าจะเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภาอย่างแท้จริงจึงจะได้รับเบี้ยยังชีพอีกครั้ง
นอกจากนี้ อดีตสมาชิกรัฐสภาจะได้รับประโยชน์จากกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาอีกสาม ประการคือ เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามความจริง ค่าทุพลภาพเดือนละ 5 พันบาท และให้สวัสดิการกับผู้ที่มีบุตรไม่เกิน 2 คน อายุไม่เกิน 18 ปี คนละ 2 หมื่นบาทต่อปี
ผลงานรัฐบาลประชาธิปไตย 15 ล้านเสียง อำมาตย์ต้องมาก่อน