ASTVผู้จัดการรายวัน - “ผอ.โรงงานยาสูบ” เดินหน้าศึกษากลยุทธ์ระยะสั้น-ยาว รับแผนอาเซียนเปิดประชาคมสิ้นปี 2558 ระบุ ระยะสั้นเตรียมออกบุหรี่ใหม่เข้าแชร์ตลาดบนจากบุหรี่นอก อ้างต้องทำเพื่อความถูกต้อง จะไม่ทนดูต่างชาติรายเดียวกินพื้นที่คนเดียวอีกต่อไป ระบุ เริ่มขยายความร่วมมือสู่เพื่อนบ้าน “ลาว-กัมพูชา-พม่า” เปิดพื้นที่ปลูกใบยาสูบ ยืนยันปรับตัวเองเป็นองค์กรนิติบุคคลเพิ่มความคล่องตัวบริหารจัดการ หวังพัฒนาโรงงานยาสูบเป็น OEM บุหรี่ต่างชาติ คาด “อินโดนีเซีย-เวียดนาม” อาจไม่ร่วมแผนลดภาษีบุหรี่นำเข้า 0% หลังเปิด AEC เหตุยังอยากป้องกันผลกระทบในประเทศของตัว
สั่นคลอนมาอย่างต่อเนื่อง และก็ยังคงสั่นคลอนอยู่จนถึงปัจจุบัน สำหรับโรงงานยาสูบจากที่ต้องแบกรับวิบากกรรมมาตั้งแต่เมื่อครั้งอาเซียนเพิ่งเริ่มลดอัตราภาษีนำเข้าบุหรี่ลงเหลือ 0% ตามกรอบข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเขตการลงทุนเสรีอาเซียน หรือ AFTA อันเป็นปฐมบทแห่งพัฒนาการในอันที่จะนำมาสู่คำประกาศเจตนารมณ์กระชับความร่วมมือในแบบที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ผ่านการลงนามปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนที่บาหลี (Bali Concord) ของบรรดาท่านผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community ที่อยู่บน 3 เสาหลัก อันได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน หรือ ASC, ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน หรือ ASCC และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในเวลาต่อมา
แต่เพิ่งจะประมาณเดือนมีนาคมของปีก่อนนี่เอง ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้ประกาศนโยบายจัดวางยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินและการคลังเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนภายใต้ 3 เสาหลักดังกล่าว ทั้งยังให้ทุกหน่วยงานในสังกัดของตัวต้องจัดเตรียมแผนวางยุทธศาสตร์รับมือการเปิดตัวประชาคมอาเซียน เพื่อส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดทำมาตรการสนับสนุน หรือช่วยแก้ไขปัญหาให้หน่วยงานในสังกัดตนที่ต้องทำหน้าที่สนับสนุนให้การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยได้โดยภาพรวม
ทั้งนี้ ต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ได้เล่าถึงแผนกลยุทธ์ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นลงได้ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ โดยอย่างแรกเลยนั้นจะเป็นแผนระยะสั้นคือ การพัฒนาบุหรี่ใหม่สำหรับจับกลุ่มผู้บริโภคระดับตลาดบน (premium) เพราะที่ผ่านมา โรงงานยาสูบจะผลิตแต่สินค้าในกลุ่มตลาดกลาง และตลาดล่างอย่างเดียว
เขาให้เหตุผลของการที่ต้องก้าวเข้ามาเล่นขึ้นมาเล่นในตลาดระดับบนนั้นเป็นเพราะเห็นควรว่า ถึงเวลาแล้วที่โรงงานยาสูบจะต้องพัฒนาสินค้าบางอย่างเข้ามาช่วยชะลอการเจริญเติบโตของบุหรี่พรีเมียมของต่างชาติที่กำลังเก็บเกี่ยวอานิสงส์อย่างต่อเนื่องจากการเข้าครองตลาดบุหรี่ในไทยได้มากมายถึงปีละ 25% นับตั้งแต่ไทยได้ลดภาษีนำเข้าบุหรี่ตามกรอบ AFTA เหลือ 0% โดยเทียบอัตราการเจริญเติบโตที่เคยมีแค่ 1% ต่อปีในยุคที่ไทยยังตั้งกำแพงภาษีสูงสุดไว้ที่ 60% แต่หากมองในแง่การเจริญเติบโตแบบสะสมของบุหรี่ต่างชาติย้อนหลังกลับไปตั้งแต่เมื่อราว 20 กว่าปีก่อนจนมาถึงตอนนี้ก็จะพบว่าเก็บตุนไว้ได้อย่างมากมายถึง 650%
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบไม่ปฏิเสธว่า การปล่อยให้บุหรี่ต่างชาติเข้าครองตลาดระดับบนได้ลึกถึงตั้งแต่ 5% ขึ้นไปแล้วนั้น ถือเป็นเรื่องยากที่โรงงานยาสูบจะเข้าควบคุมอะไรได้อีก หากแต่พิจารณาในเชิงตลาดเขาได้เน้นย้ำว่า โรงงานยาสูบคงไม่สามารถที่จะยอมปล่อยให้ต่างชาติยักษ์ใหญ่แค่รายเดียวเดินกินพื้นที่ตลาดบุหรี่ไทยอย่างนี้ได้อีกต่อไป
ทั้งยังย้ำว่า พวกเขาไม่คิดจะเอาชนะยักษ์ใหญ่ เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่หากโรงงานยาสูบจะสามารถเข้าไปกินพื้นที่ได้แค่เพียง 3-10% พวกเขาก็พอใจแล้ว เพราะนั่นถือเป็นความถูกต้องของการแข่งขันในระบบตลาดบุหรี่ของไทยที่ไม่ใช่จะยอมปล่อยให้ต่างชาติเดินอยู่คนเดียวในตลาดดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แต่การที่จะเริ่มผลิตบุหรี่ในระดับบนตามแผนการดังกล่าวนั้นได้ โรงงานยาสูบก็ต้องเตรียมพร้อมทั้งในเรื่องงบประมาณ เครื่องมือเครื่องจักร รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพบรรจุภัณฑ์บุหรี่ที่จะต้องพัฒนาให้มีดูดีทันสมัยขึ้นมาอีกนิด และครั้งนี้ต้องไม่ใช่รูปแบบบุหรี่ซองอ่อนแค่อย่างเดียว เช่นเดียวกัน คุณภาพของใบยาก็ต้องผ่านการคัดสรรคุณภาพอย่างเพียรพยายามมากขึ้น รวมถึงต้องมีการบ่ม และมีโกดังเก็บใบยาให้มากขึ้นด้วย
ขณะที่แผนระยะปานกลางนั้น ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ย้ำว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงถึง 2 ครั้งใหญ่ที่จะเริ่มต้นจากการปิดตัวโรงงานการผลิตในปัจจุบันนี้เพื่อย้ายฐานการผลิตออกไปยังโรงงานแห่งใหม่ที่โรจนะ จ. อยุธยา โดยแผนการนี้จะเกิดขึ้นได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และเมื่อพิจารณาเพิ่มเติมว่า โรงงานยาสูบยังคงต้องขยายตัวต่อไปให้ได้ในระยะยาวแล้ว โรงงานยาสูบควรต้องเพิ่มการแข่งขันที่จะมุ่งพาตัวเองออกสู่ภายนอกให้ได้ อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงแผนปรับลดต้นทุนการผลิตโดยการย้ายโรงงานเข้าไปอยู่ใกล้กับแหล่งผลิตใบยาทางภาคเหนือในอีกส่วนหนึ่งด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่ยังจะต้องมีคือ ความพร้อมในการผันตัวเองขึ้นให้เป็นศูนย์กลางการผลิต เหตุเพราะการนำเข้า และการส่งออกยังมีต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่หากสามารถขยายตัวรองรับการผลิตแบบนี้ได้ โดยมีความสามารถในการควบคุมต้นทุน และทำราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบก็เชื่อว่าน่าจะมีบริษัทบุหรี่ต่างชาติเข้ามาจ้างให้โรงงานยาสูบเป็นผู้ผลิตสินค้าให้แทนได้ เนื่องจากพวกเขาก็เป็นแหล่งผลิตใบยาสูบอยู่แล้ว
โดยแผนระยะยาวพวกเขายังหวังกันว่า จะมีโรงงานอีกแห่งเกิดขึ้นได้ทางเหนือคือ แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เพื่อทำให้กำลังการผลิตรวมจากที่แม่โจ้ และโรจนะเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 15% หรือประมาณ 35,000-37,000 ล้านมวนต่อปี เพื่อให้เป็นไปตามการจัดทำแผนการผลิตในระยะยาวของโรงงานยาสูบที่ได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะมีลักษณะที่เป็นเหมือนอุตสาหกรรมรับจ้างผลิตขนาดใหญ่ หรือ OEM หลังอาเซียนเป็นประชาคมแล้ว
“ตอนนี้พนักงานโรงงานยาสูบก็เข้าใจแล้วนะว่า product life-cycle ของเรามันเป็นแบบนี้ เราจำเป็นต้องมีความคล่องตัวมากขึ้น ถ้าการบริหารเรามันจะเป็นนิติบุคคลในอนาคต เราก็มีสิทธิที่จะหารายได้ตัวอื่นมาเจือจุนบุหรี่ที่ขายน้อยลงได้ เราอย่าไปคิดว่าวันหนึ่งบุหรี่ยาสูบมันจะกลับไปขายดีเหมือนเดิมอีก เพราะมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เราต้องรับรู้ตัวเอง และหาทางแก้ไข กระบวนการเหล่านั้นก็เป็นขั้นตอนที่เราต้องไป” ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบให้ภาพ
เริ่มเดินหน้าช่วย 3 ปท.เพื่อนบ้าน
เปิดพื้นที่พัฒนาคุณภาพใบยาสูบ
ด้านจุดเด่นเรื่องประสบการณ์ความสำเร็จในการพัฒนาการพัฒนาคุณภาพพันธุ์ใบยาสูบก็ถือเป็นอีกประเด็นที่ได้รับการพิจารณาให้บรรจุเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของโรงงานยาสูบ เพื่อใช้ปูทางออกสู่ภายนอกผ่านแผนการส่งเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการถ่ายทอดประสบการณ์การปลูกใบยาสูบให้แก่เกษตรกรชาวไร่ใน สปป. ลาว, กัมพูชา และพม่าด้วย
“เมื่อตอน AEC รัฐมนตรีก็ให้โจทย์ว่าเราต้องเตรียมพร้อมรองรับ ผมก็นั่งประชุมหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องใบยาเราก็ปลูกเก่ง ควบคุมสารตกค้างเราก็ทำได้ เรามีระบบ GAP หรือ good agricultural practices อันนี้เราก็ทำได้จนครบรูปแบบแล้ว เราเลยบอกว่าจะขยายสู่ประเทศใกล้ๆ อย่าง พม่า ลาว เขมร ซึ่งก็มีต่างชาติพยายามจะเข้าไปอยู่ ปรากฏว่า พอเราเปิดแนวนี้ทุกคนต้อนรับหมดเลย เพราะรายได้จากผลผลิตจากใบยาสูบมันดีกว่าข้าว 2 เท่า แต่ปลูกข้าวคนจะปลูกได้ง่าย ส่วนใบยาคนปลูกต้องพิถีพิถันเอาใจใส่ดูแล และจะปลูกได้แค่ตอนหน้าหนาวแล้วก็จบ”
สำหรับความคืบหน้าในการขยายการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกสู่ประเทศเพื่อนบ้านนั้น ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พวกเขาได้เริ่มเข้าไปเปิดพื้นที่เพาะปลูกแบบนำร่องเพื่อปลูกใบยากันแล้วที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงใน สปป.ลาวไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ โดยโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันในระดับรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศผ่านกรมสรรพสามิตซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้ปลูกใบยาสูบ
“ตอนแรกเรานี้ก็ทำแปลงเล็กๆ 5-10 ไร่ไปก่อน แต่อาจจะทำหลายแปลงหน่อย และก็ช่วยสอนชาวบ้านแถวนั้น สปป.ลาวเองคนเขาก็ปลูกใบยาสูบกันเป็นอยู่บ้าง เพียงแต่เราเข้าไปช่วยร่วมพัฒนาให้พื้นที่ตรงนี้แก่เกษตกรชาวไร่ของฝั่งลาว เพื่อเขาจะได้สามารถยกระดับต้นใบยาให้ขึ้นมาอยู่ในมาตรฐานที่มันควรจะเป็นซึ่งมันก็ทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะของเราเองเคยพัฒนาอยู่ 2 หน่วย เกินกว่า 10 ปีกว่าจึงจะมาเป็นอันนี้ได้
พวกเราหวังกันว่าพื้นที่บริเวณริมฝั่งโขงจะสามารถปลูกพันธุ์เบอร์เลย์ได้ เพราะตรงนั้นน่าจะเหมาะกับใบยาสูบพันธุ์นี้มากกว่า่ แต่หากขยับขึ้นไปทางภาคเหนือของ สปป.ลาว คิดว่าอาจจะเหมาะกับพันธุ์เวอร์จิเนียมากกว่า มันก็เหมือนในไทยที่พื้นที่ภาคเหนือจะเหมาะกับการปลูกพันธุ์เวอร์จิเนีย ส่วนทางภาคเหนือตอนใต้ เช่น กำแพงเพชร สุโขทัย จะเหมาะกับพันธุ์เบอร์เลย์ และภาคอีสานจะเหมาะกับพันธุ์เตอร์กีซที่ต้องการน้ำน้อยมาก” ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบอธิบายประมาณนี้
ส่วนในกัมพูชาได้เริ่มเจรจากันไปแล้ว โดยภายใน 1-2 อาทิตย์นี้ ต่อศักดิ์ บอกว่าพวกเขาจะเริ่มเข้าสำรวจพื้นที่นำร่องการเพาะปลูกในกัมพูชา ขณะที่ในพม่าก็เริ่มมีการเจรจาไปแล้วระดับหนึ่ง และไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่จากโรงงานยาสูบเข้าไปศึกษาข้อมูลเบื้องต้นแล้วเช่นกัน เพราะที่พม่ายังต้องเข้าไปดูแลเรื่องเตรียมกระบวนการปุ๋ย กระบวนการป้องกัน การเตรียมพื้นดิน การเตรียมให้คนรู้ถึงกระบวนการปลูกและบ่มใบยา ทั้งนี้ เจ้าตัวยังกล่าวสำทับด้วยว่า โครงการแบบนี้คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จึงจะเห็นผลจากความร่วมมือ
“เนื่องจากพม่าดูแล้วเหมือนลักษณะประเทศจะเรียวๆ แบบนี้ แต่สภาพในพม่ามันจะหุบลงเป็นเขาหมดเลย พื้นที่ตรงกลางก็ยังพอปลูกได้พันธุ์หนึ่ง เราก็เข้าไปดูแล้วว่าจะปลูกตรงไหนได้บ้าง หรือตรงไหนที่คนพม่าเคยปลูกใบยามาแล้วเราจะช่วยขยายให้ได้ยังไง และก็ไปช่วยดูพันธุ์ที่เขาควรจะปลูกให้ด้วย ดูพื้นฐานเครื่องมือเครื่องจักรที่พอจะใช้ได้บ้างบางส่วน ดูน้ำมัน ดูวิธีการขนส่ง อันนี้เราจะเข้าไปดูให้ ส่วนพื้นที่บนเขาของพม่าลักษณะจะใกล้เคียงกับแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงรายของไทย พื้นที่ตรงนั้นก็อาจจะมีส่วนหนึ่งที่พอจะพัฒนาได้เหมือนกัน” ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบเล่าให้ฟัง
ชี้หลังเปิด AEC “อินโดฯ-เวียดนาม”
อาจไม่หั่นภาษีนำเข้าบุหรี่เหลือ 0%
สำหรับความเป็นไปได้ในการปรับลดภาษีนำเข้าบุหรี่ลงเหลือ 0% ในอีก 6 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เคยยื่นขอชะลอเวลาการปรับลดออกไปจนถึงปี 2558 นั้น ต่อศักดิ์ คาดว่า ประเทศที่คงไม่ร่วมโดยหลักๆ แล้วน่าจะเป็นอินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่หากทั้ง 2 ประเทศนี้จะยอมลงนามเข้าร่วมเขาก็เชื่อว่าน่าจะเป็นการเข้าร่วมแค่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้ เนื่องจากอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรเกือบ 200 ล้านคน แถมเศรษฐกิจภายในยังเติบโตต่อเนื่องด้วยตัวเลข 2 หลัก ตอนนี้ก็กำลังกลัวกันว่าหากยอมปล่อยให้บุหรี่ต่างประเทศเข้าประเทศของตนได้โดยเสรีอย่างสิงคโปร์, ไทย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์แล้ว ประเทศของตนอาจต้องตกที่นั่งลำบาก รัฐบาลจึงยังอยากจะป้องกันเอาไว้ก่อน ส่วนที่เวียดนามประเทศซึ่งมีประชากรกว่า 80 ล้านคน คนที่นั่นจะสูบบุหรี่กันเยอะมาก จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า หลังอาเซียนเป็นประชาคมแล้ว รัฐบาลของเวียดนามฐานะผู้ผูกขาดการผลิตบุหรี่ในประเทศก็คงยังไม่ยอมลงนามปรับลดอัตราภาษีนำเข้าบุหรี่เหมือนเช่นที่เคยไม่ยอมลงนามเข้าร่วมกับ AFTA เมื่อ 4-5 ปีก่อน
“กระบวนการของ AEC ในอนาคตมันคงจะมีบางประเทศที่อาจจะเซ็น หรือบางประเทศอาจจะเซ็นแต่ก็เซ็นไม่ครบ ซึ่งก็ยังมีการเจรจากันอยู่ แต่ตอนนี้มันมีข้อมูลบางอันที่เป็นการประชุมกันเมื่อปลายปีที่แล้วที่สิงคโปร์กลับกลายเป็นว่า การเปิดบุหรี่ให้ภาษีนำเข้าเป็น 0% มันทำให้ภาพรวมของประชากรในอาเซียนเราเองมีอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงขึ้นด้วย เขาก็อาจบอกว่าเกิดจากการปล่อยให้บุหรี่นำเข้ามาได้ง่ายขึ้นแล้ว เขาก็คงต้องมีมาตรการอะไรออกมาเหมือนกัน เพราะเรื่องบุหรี่ยังมีหลายมิติที่ก็ต้องดู” ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบให้ความเห็นทิ้งท้าย