xs
xsm
sm
md
lg

“เวิลด์แบงก์” ชี้ “อ่อนภาษา-ไร้ภาวะผู้นำ” ฉุดไทยหงอรับเปิดเสรีอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ชี้ไทยกลัวเปิดตลาดเสรีอาเซียนเกินเหตุ อาจทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพในระยะยาว เหตุอ่อนภาษาอังกฤษ ไม่ทันเทคโนโลยี จึงกลัวการแข่งขัน และปิดตัวเองจนไร้ความคิดสร้างสรรค์ สุดท้ายไร้แม้แต่ภาวะความเป็นผู้นำ พร้อมแนะรัฐบาลเปิดตาดูเทรนด์ตลาดโลกดันภาคบริการที่อาศัยเพียงหนึ่งสมอง และสองมือสร้างมูลค่าสูงลิ่ว แล้วมองย้อนหลัง 10 ปีกว่านโยบายหนุนแต่ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรสูงนั้นคุ้มค่าหรือไม่

วันนี้ (20 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดการบรรยายทางวิชาการ “คุยไปคิดไปจัดไฟปัญญา” ครั้งที่ 21 โดยมี ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย นำเสนอในประเด็นเรื่อง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : ผลกระทบต่อประเทศไทย”

สืบเนื่องจากกรอบความร่วมมือทางการค้าของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน มีข้อตกลงที่จะเปิดเสรีเศรษฐกิจใน 5 กลุ่ม ประกอบด้วย การเปิดเสรีการค้าสินค้า, บริการ, การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ, เงินทุน และการลงทุน ซึ่งเป็นพลังสำคัญส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่รวมประเทศจีนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต ภายหลังจากทั้งยุโรป และสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาเศรษฐกิจ

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้พบว่ามีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมใน 3 กลุ่ม คือ การค้า บริการ และการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ โดยภาคการส่งออกของไทยนั้นได้เปลี่ยนจากมาเป็นกลุ่มอาเซียนแทน แต่ในภาพรวมแล้วยังพบว่า คนไทยยังมีความกลัวในเรื่องการเปิดเสรีอาเซียนที่จะมีการลดภาษีลงเหลือ 0% และเคลื่อนย้ายแรงงาน การลงทุนได้เสรี ว่าจะไม่สามารถแข่งขันด้านการค้าได้ ด้วยมีความเชื่อผิดๆ เช่น กลัวว่าประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนได้, บริษัทของไทยอาจถูกต่างชาติที่มีศักยภาพ และขีดความสามารถมากกว่าเข้าซื้อ หรือควบรวมกิจการ ตลอดจนแรงงานฝีมือคนไทยจะถูกแย่งงานโดยชาวต่างชาติ และเปิดโอกาสให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น

ทั้งที่จริงแล้ว ใน 6 สมาชิกอาเซียนรุ่นแรกได้เริ่มลดกำแพงภาษีในนาม AFTA มาแล้วตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมาให้เหลือเพียง 5% ที่แต่ละประเทศสงวนไว้ในกลุ่มอ่อนไหว และตกลงว่าในปี 2015 ทั้ง 10 ประเทศจะปลดกำแพงภาษีร่วมกันเหลือ 0% ซึ่งนั่นเป็นโอกาสของไทยในการเจาะกลุ่มลาว กัมพูชา และพม่า ที่ยังมีความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของตนให้ทัดเทียมสมาชิก

“ความกลัวดังกล่าวทำให้เราไม่สามารถเปิดใจรับกับการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำมาสู่การพัฒนา ทำให้อยู่ในภาวะนิ่งอยู่กับที่ และการอยู่เฉยนั้นเปรียบเสมือนการถอยหลัง ในขณะที่สมาชิกอาเซียนอื่นๆ กล้าที่จะลองเปิดประเทศเพื่อรับเอาเงินทุน และความรู้เพื่อเป็นเส้นทางลัดในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ดังเช่น กัมพูชา ลาว เวียดนามที่ได้เปิดเสรีในภาคธนาคารแล้ว 100% เพื่อผลักดันการลงทุนด้านต่างๆ ให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ อย่างเร็วที่สุด” ดร.กิริฎา กล่าวต่อว่า

เช่นเดียวกับในภาคการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ ที่ประกอบด้วย 7 สาขา ได้แก่แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และนักสำรวจ เฉพาะในกลุ่มวิศวกรมีเพียงสิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ จนมีการขึ้นทะเบียนกลุ่มวิศวกรอาเซียนเรียบร้อยแล้ว โดยที่ไม่มีชื่อของคนไทยอยู่เลย ซึ่งการไม่เปิดใจต่อการทำงานในประเทศที่สามเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ ยิ่งทำให้ข้ออ่อนด้อยไม่ได้รับการพัฒนา ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาวิชาชีพในอนาคต ทั้งนี้ จากการสำรวจของธนาคารโลกในปี 2004 และ 2008 ถึงทักษะการทำงานที่ควรเพิ่มเติมของประเทศทั่วโลก ได้ตอกย้ำว่า คนไทยยังอ่อนด้อย 4 ด้าน คือ ภาษาอังกฤษ, เทคโนโลยี, ความคิดสร้างสรรค์ และภาวะความเป็นผู้นำ

ดร.กิริฎา ยังได้กล่าวแนะนำถึงนโยบายในภาครัฐด้วยว่า ควรจะใช้กรอบข้อตกลงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนถือหุ้นในอาเซียนสูงสุด 70% ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดด้วยความเข้าใจในศักยภาพของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่า ในห้วงสิบปีที่ผ่านมานั้น รัฐมุ่งเน้นสนับสนุนในภาคการผลิตที่ต้องใช้ต้นทุน และทรัพยากรมหาศาลเป็นหลัก ทั้งที่สามารถสร้างมูลค่าให้แก่ GDP ได้ 30% แต่กลับละเลยส่งเสริมในด้านภาคบริการที่มีสัดส่วนถึง 45% ของ GDP โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว และสร้างงานให้แก่คนไทยถึง 45% เช่นเดียวกัน โดยในห้วง 6 ปีที่ผ่านมาพบว่ามูลค่าการเพิ่มของภาคบริการกลับมีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงภาวะที่นิ่งอยู่กับที่ด้วยไม่เปิดให้มีการแข่งขัน จึงไม่มีการพัฒนา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

“เทรนด์ของตลาดโลกนั้นจะเน้นการพัฒนาด้านบริการซึ่งสร้างมูลค่าได้มากกว่าการผลิตมาก เพราะใช้แค่สมองกับสองมือเป็นทุนหลัก ในประเทศที่พัฒนาแล้วจึงไม่กีดกันด้านบริการ แต่น่าเสียดายที่นโยบายของรัฐนั้นยังมุ่งช่วยเหลืออุตสาหกรรม จนละเลยที่จะมองด้านการท่องเที่ยว และบริการไป เพราะการเปิดให้มีการแข่งขันจะทำให้ผู้รับบริการจ่ายเงินน้อยลง แต่ทำให้เกิดการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากรัฐกลับลำมาสนับสนุนด้านนี้แล้ว เชื่อว่าจะกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ผลักดันมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้รวดเร็วขึ้น” ดร.กิริฎากล่าวทิ้งท้าย
ดร.กิริฎา เภาวิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย

บรรยากาศก่อนเข้าสู่การบรรยาย
คณะเศรษฐศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดบรรยายให้กับนักศึกษาและผู้สนใจกล่าวต้อนรับวิทยากร


กำลังโหลดความคิดเห็น