xs
xsm
sm
md
lg

“ไอแบงก์” อาการโคม่า สภาพคล่องช็อตหนัก “คลัง” ตีกลับแผน “ลูกค้า” แห่ถอนเงินหนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไอแบงก์” อาการโคม่า สภาพคล่องช็อตหนัก แถมหนี้เสียพุ่งกระฉูด เงินกองทุนบีไอเอสจ่อติดลบ คลังตีกลับแผนขอเพิ่มทุน 1.4 หมื่นล้านบาท เพราะเขียนไม่ชัดเจน หวั่นเจ๊งตามเอสเอ็มอีแบงก์ ลูกค้าแห่ถอนเงินหนีไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันฐานะของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) กำลังมีปัญหาทรุดตัวหนักอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุด ในเดือน ม.ค.2556 ที่ผ่านมา มีผู้ถอนเงินฝากออกจากธนาคารกว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารไม่เสนอผลตอบแทนเงินฝาก ทำให้ผู้ฝากเงินนำเงินไปฝากกับธนาคารอื่น ส่งผลให้ธนาคารเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องไม่มีเงินปล่อยสินเชื่อ จึงต้องเร่งระดมเงินฝาก โดยให้ผลตอบแทนในอัตราสูงกว่าปกติ ทำให้ต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ หนี้เสียของธนาคารในช่วงสิ้นปี 2555 อยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท หรือ 22.5% ของหนี้ทั้งหมด เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) อยู่ที่ 4.6% แต่ปัจจุบันหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 หมื่นล้านบาท หรือ 30% ของหนี้ทั้งหมด ทำให้เงินกองทุนบีไอเอส ติดลบสูงถึง 5% กว่า ซึ่งหากเป็นมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ จะต้องถูกควบคุมโดยให้มีการหยุดกิจการ เพื่อหยุดความเสียหายทันทีที่เงินกองทุนติดลบ

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหาร ที่ไล่เงินฝากออกจากธนาคาร และหยุดการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด เพื่อตรวจสอบ และอนุมัติการปล่อยสินเชื่อเอง เป็นเวลานานกว่า 3 เดือนแล้ว ทำให้ลูกหนี้ของธนาคารมีปัญหาไม่ได้รับเงินงวดกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมากขึ้น ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ และสร้างความเสียหายให้แก่ธนาคารอย่างมาก” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ได้สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เข้าไปตรวจสอบฐานะของธนาคารเพื่อหยุดความเสียหายไม่ให้มากไปกว่านี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางไอแบงก์ได้ทำแผนฟื้นฟูขอเพิ่มเพิ่มทุนสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท และขอกู้เงินโดยการออกพันธบัตรตามหลักศาสนาอิสลาม (ซูกุก) วงเงิน 5 พันล้านบาท เพื่อนำไปสำรองเงินกองทุนบีไอเอส จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เงินกองทุนดังกล่าวกลับขึ้นมามากกว่า 8.5% แต่ทาง สศค. ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน และเห็นว่าแผนฟื้นฟูไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด หากเพิ่มทุนให้ไปก็กังวลว่าไม่นานก็จะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นทำให้เงินกองทุนติดลบอีก

สำหรับฐานะของไอแบงก์มีปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ที่ล่าสุด มีหนี้เสียสูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท หรือ 40% ของหนี้ทั้งหมด เงินกองทุนบีไอเอสติดลบ 0.95% และต้องการเงินเพิ่มทุน 3-6 พันล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังก็ยังไม่เห็นชอบ เพราะเมื่อปลายปี 2555 ที่ผ่านมา สศค. เสนอให้นายกิตติรัตน์ เห็นชอบแผนการควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์กับธนาคารออมสิน แต่ต้องหยุดแผนดังกล่าวไปก่อน หลังจากมีลูกค้าเริ่มถอนเงินฝากออกจากเอสเอ็มอีแบงก์

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 ก.พ.2556 จะเดินทางเข้าตรวจสอบไอแบงก์ และหารือกับผู้บริหารของธนาคารถึงแผนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นว่าจะดำเนินอย่างไร

นอกจากนี้ ในวันที่ 13 ก.พ.2556 ทางคณะกรรมการของไอแบงก์ก็จะมีการประชุมเพื่อหาแนวทางการฟื้นฟูธนาคารให้พ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้น และจะมีการค้นหาสาเหตุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความผิดพลาดของการบริหารที่ผิดพลาดของฝ่ายจัดการหรือไม่

โดยก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ออกมาประเมินว่า รัฐบาลต้องเพิ่มทุนให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในช่วงปี 2555-2562 ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากการที่ต้องปล่อยกู้สนองนโยบายรัฐบาลเป็นจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น