xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ไฟเขียวควบรวม “เอสเอ็มอีแบงก์-ออมสิน” คาดตั้งเป็นส่วนหนึ่งในธุรกรรมสินเชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
“กิตติรัตน์” เผย “ยิ่งลักษณ์” ไฟเขียวควบรวม “เอสเอ็มอีแบงก์-ออมสิน” แก้ปัญหาหนี้เสียท่วมแบงก์ และความไม่โปร่งใสในการอนุมัติสินเชื่อ แต่การมีเอ็นพีแอลติดไปอยู่กับ “ออมสิน” ย่อมไม่ถูกต้อง ดังนั้น ต้องเร่งแก้ปัญหาภายใน “เอสเอ็มอีแบงก์” ก่อนดำเนินการ ด้านผลการศึกษา “สศค.” ระบุควรต้องควบรวมเพื่อให้กิจการช่วย “เอสเอ็มอี” ยังคงอยู่ต่องไป โดยให้ธุรกรรมสินเชื่อ “เอสเอ็มอี” มีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งภายในแบงก์ออมสิน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลจากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ระบุว่า กระทรวงการคลัง ควรนำธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ควบรวมกับธนาคารออมสิน เพื่อให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีให้คงมีอยู่ต่อไป แต่ธนาคารเฉพาะกิจที่จะรับผิดชอบโดยตรงจะมีหรือไม่ ต้องขอรอดูแผนการฟื้นฟูกิจการของเอสเอ็มอีแบงก์ก่อนที่จะตัดสินใจ

“ผมได้หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว หากมีความจำเป็นต้องดำเนินการใดๆ กับเอสเอ็มอีแบงก์ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ รมว.คลัง ซึ่งผมเห็นว่า เอสเอ็มอีแบงก์มีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขหลายเรื่อง โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีจำนวนมาก และความไม่โปร่งใสในการอนุมัติสินเชื่อ” นายกิตติรัตน์กล่าว

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า เอสเอ็มอีแบงก์มีภารกิจหลัก คือ ให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ไม่แข็งแรงให้ยืนได้ด้วยตนเอง แต่เมื่อเอสเอ็มอีเหล่านี้เติบโตขึ้นก็จะย้ายไปขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ ทำให้เอสเอ็มอีแบงก์ดูเหมือนเป็นโรงเรียนอนุบาล ไม่มีโรงเรียนประถม หรือมหาวิทยาลัยให้แก่ผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่คาดหวังว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีที่กำลังบ่มเพาะจะเติบใหญ่ และเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ดีของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ขนาดของสินเชื่อเอสเอ็มอีในธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสินเชื่อที่มากขึ้นทุกปีสำหรับธนาคารพาณิชย์

“สศค.เสนอให้เอสเอ็มอีแบงก์ควบรวมกับธนาคารออมสิน โดยให้ธุรกรรมสินเชื่อเอสเอ็มอีมีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งภายในธนาคารออมสิน ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่การที่จะควบรวมกันแล้ว มีเอ็นพีแอลติดไปอยู่กับธนาคารออมสินด้วยก็ไม่ถูกต้อง เพราะปัจจุบัน ธนาคารออมสินมีความมั่นคง และแข็งแกร่งมาก ดังนั้น เอสเอ็มอีแบงก์ควรจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาของตนเอง หลังจากนั้น ค่อยมาพิจารณาว่าจะควบรวมเข้ากับธนาคารออมสินอีกครั้ง” นายกิตติรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลังได้ร่วมกันยกร่างพระราชบัญญัติธนาคาร พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 โดยยกระดับจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี
กำลังโหลดความคิดเห็น