xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์SMEปี55ขาดทุน6พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -เอสเอ็มอีแบงก์โชว์ผลงานโบว์ดำปี 55 ขาดทุนอ่วมกว่า 6 พันล้านบาท เอ็นพีแอลพุ่งกระฉูด 33% หรือเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ผู้บริหารลั่นปี 56 หั่นหนี้เสียลงเหลือให้เหลือ 28% พร้อมเข้มปล่อยกู้มากขึ้น

นายพงษ์ศักดิ์ ชาเจียมเจน รองกรรมการผู้จัดการ ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการด้านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ในปี 2556 ธนาคารจะมีความเข้มงวดในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาพบว่ามีหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพประกอบกับลูกค้าของธนาคารจำนวนมากกว่า 6,000 รายที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการประสบปัญหาน้ำท่วมและการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำตามนโยบายรัฐบาลแต่ไมได้รับการจ่ายชดเชย ส่งผลให้สิ้นปี 2555 ธนาคารมีหนี้เสียหรอเอ็นพีแอลถึง 33 % หรือเกือบ 3 หมื่นล้านบาทจากยอดสินเชื่อคงค้าง 9.8 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้สิ้นปีที่ผ่านมาธนาคารยังประสบปัญหาขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 6,000 ล้านบาท ส่งผลให้ในปีนี้ธนาคารให้ความสำคัญกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้และลดสัดส่วนหนี้เสียลงให้เหลือ 28% จากนั้นปี 57 ตั้งเป้าลดหนี้เสียเหลือ 23% และคาดว่าปี 58 จะลดลงต่ำกว่า 20 %ได้ในที่สุด แม้ว่าจะเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสถาบันการเงินอื่นๆที่อยู่ในระดับ 14% แต่ก็น่าจะเป็นระดับที่ทำให้เอสเอ็มอีแบงก์มีความเสี่ยงในการดำเนินงานน้อยลง

“ปีที่ผ่านมายอมรบว่าธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อสะเปะสะปะ และบางส่วนเป็นสินเชื่อไม่คุ้มหลักประกันหรือไม่ได้สร้างรายได้หรอเพิ่มผลผลิตกลับมาจริง ปีนี้จึงเน้นพิจารณาสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายที่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนและมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือมีรายได้กลับเข้ามาจริงเพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้ในอนาคต นอกจากนั้นหน้าที่หลักในปีนี้คือเร่งปรับโครงสร้างหนี้และแก้ปัญหาหนี้เสียของธนาคารสูงขึ้นอย่างมาก” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ตั้งเป้าขยายตัวจากปีก่อน 5% โดยมียอดสินเชื่อรวมทั้งปี 1.03 แสนล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3 หมื่นล้านบาท แต่ที่เพิ่มขึ้นน้อยเนื่องจากมีการชำระหนี้เข้ามากว่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท นอกจากนั้นจะพยายามดูแลการบริหารจัดการเพื่อลดผลขาดทุนและน่าจะกลับมามีกำไรได้ในปีนี้

ส่วนการดูแลลูกค้าของธนาคารที่มีกว่า 8 หมื่นรายนั้น ธนาคารพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือหากมีปัญหาขาดสภาพคล่องหรือได้รับลกระทบจากต้นทนที่สูงขึ้น รวมถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศด้วย โดยขณะนี้ไม่พบว่ามีลูกค้าของธนาคารมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการแต่อย่างใด แต่ขาดสภาพคล่องนั้นมีอยู่บ้างเช่น ผู้ประกอบการเซรามิกที่จ.ลำปาง จึงอยู่ระหว่างให้การช่วยเหลือ โดยจะประสานไปยังบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกัน 100% เพื่อให้กิจการสามารถมีเงินทุนหมุนเวียนได้ต่อไป

นอกจากนั้นยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนากระบวนการทำงานที่เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยลดผลกระทบจากการปรับค่าจ้างที่คระรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ขยายระยะเวลาจากสิ้นสุดการอนุมัติสินเชื่อในวันที่ 23 เมษายน 2557 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท โดยให้กู้รวมกันไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปีหรือ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ลบ 3 % ขึ้นอยู่กับประเภทสินเชื่อ และมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น 1 ปีนั้นขณะนี้ยังเหลือวงเงินอีก หมื่นกว่าล้านบาท เนื่องจากมีการอนุมัติไปเพียง 5-6 พันล้านบาทเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น