เอสเอ็มอีแบงก์ขาดทุน 6 พันล้าน ครวญหนี้เสียพุ่งพรวด 33% เพราะลูกค้ายังไม่ฟื้นจากผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ ยันชัดยังไม่พบลูกค้าโดนพิษค่าแรง 300 ถึงขั้นปิดกิจการ
นายพงษ์ศักดิ์ ชาเจียมเจน รองกรรมการผู้จัดการในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการด้านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์ ) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานปี 2556 ธนาคารได้เข้มงวดในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาพบว่า มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพ ประกอบกับลูกค้าของธนาคารมากกว่า 6 พันราย สำหรับผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นตัวจากการประสบปัญหาน้ำท่วม และการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำตามนโยบายรัฐบาลแต่ไมได้รับการจ่ายชดเชย
ส่งผลให้สิ้นปี 2555 ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ถึงร้อยละ 33 หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้าง 9.8 หมื่นล้านบาท โดยสิ้นปีที่ผ่านมา ธนาคารยังประสบปัญหาขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 6 พันล้านบาท ส่งผลให้ในปีนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ และลดสัดส่วนหนี้เสียลงให้เหลือร้อยละ 28 จากนั้นปี 2557 ตั้งเป้าลดหนี้เสียเหลือร้อยละ 23 และคาดว่าปี 2558 จะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 20 ได้ในที่สุด แม้ว่าจะเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสถาบันการเงินอื่นๆ ที่อยู่ในระดับร้อยละ 14 แต่ยังเป็นระดับที่ทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงในการดำเนินงานน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ตั้งเป้าขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 5 มียอดสินเชื่อรวมทั้งปี 1.03 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3 หมื่นล้านบาท แต่ที่เพิ่มขึ้นน้อยเนื่องจากมีการชำระหนี้เข้ามากว่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท นอกจากนั้น จะพยายามดูแลการบริหารจัดการเพื่อลดผลขาดทุน และน่าจะกลับมามีกำไรได้ในปีนี้ ส่วนการดูแลลูกค้าของธนาคารที่มีกว่า 8 หมื่นรายนั้น ธนาคารพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือหากมีปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือได้รับผลกระทบจากต้นทนที่สูงขึ้น
รวมถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศด้วย โดยขณะนี้ไม่พบว่ามีลูกค้าของธนาคารมีการเลิกจ้าง หรือปิดกิจการแต่อย่างใด แต่ยังมีขาดสภาพคล่องอยู่บ้าง เช่น ผู้ประกอบการเซรามิก จ.ลำปาง ซึ่งอยู่ระหว่างให้การช่วยเหลือ โดยจะประสานไปยังบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกัน 100% เพื่อให้กิจการสามารถมีเงินทุนหมุนเวียนได้ต่อไป
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนากระบวนการทำงานที่เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยลดผลกระทบจากการปรับค่าจ้างที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ขยายระยะเวลาจากสิ้นสุดการอนุมัติสินเชื่อในวันที่ 23 เมษายน 2557 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท โดยให้กู้รวมกันไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี หรือ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ลบ 3% ขึ้นอยู่กับประเภทสินเชื่อ และมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น 1 ปีนั้น ขณะนี้ยังเหลือวงเงินอีกหมื่นกว่าล้านบาท เนื่องจากมีการอนุมัติไปเพียง 5-6 พันล้านบาทเท่านั้น