สศค. เล็งปรับเป้า “จีดีพี” ปีนี้ และปีหน้าใหม่ หลังพบสัญญาณ “จีดีพี” จะขยายตัวมากกว่าประมาณการเดิม พร้อมระบุแนวโน้มปีหน้าการลงทุนภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อน ศก.ไทย
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.จะปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ในปลายเดือนธันวาคมนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวมากกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 5.5 เนื่องจากการบริโภคและการลงภาคเอกชน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปีนี้ขยายตัวสูงมาก โดยการบริโภคเอกชนขยายตัวถึงร้อยละ 5.2 เป็นการเติบโตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ 8 ปีที่ผ่านมาของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของประชาชน ซึ่งในอดีตโตเกินร้อยละ 3 หรือร้อยละ 4 ก็ถือว่ามากที่สุดแล้ว
นายสมชัย กล่าวต่อว่า เมื่อการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนเติบโตที่สูงในปีนี้แล้ว ปีหน้าก็คงไม่สูงนัก แต่ก็ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอาจจะร้อยละ 4-5 แต่ไม่ใช่ร้อยละ 5.2 ในปีนี้ ดังนั้น การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะสมดุลมากกว่าปีนี้ โดยคาดว่าน่าจะชะลอลงจากปีนี้ คือ เหลือไม่เกินร้อยละ 5 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 5.2 โดยปัจจัยขับเคลื่อนจะมาจากทั้งการลงทุนของรัฐบาล การส่งออกที่ดีขึ้นกว่าปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวขึ้น การบริโภค และการลงทุนเอกชนก็จะเป็นตัวนำเช่นเดียวกัน ความสมดุลของการเติบโตในปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ เพราะฉะนั้น เสถียรภาพเศรษฐกิจก็ไม่มีอะไรที่น่าห่วง ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ ระบบสถาบันการเงินที่ยังแข็งแกร่งทั้งในปีนี้ และปีหน้า จากสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ (บีไอเอส) ที่เฉลี่ยร้อยละ 15 จากที่กำหนดขั้นต่ำไว้ร้อยละ 8.5 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็ต่ำคือ ประมาณร้อยละ 2 กว่า และกำไรของธนาคารพาณิชย์ยังเติบโตดี
“ปีหน้าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตแบบมีศักยภาพในระดับที่ควรจะเป็นคือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น การส่งออกปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ แต่ตัวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแรงๆ คือ การลงทุนของภาครัฐ เพราะจะมีเม็ดเงินจำนวนมากออกมาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินของรัฐบาล 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบกับ พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำที่ยังเบิกจ่ายล่าช้าในปีนี้อีก ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการประมูล ก็คิดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ปีหน้าเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ที่จะถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งโดยปกติเมื่อมีการลงทุนจากภาครัฐแล้วเอกชนก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนตาม” นายสมชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกว่าจะเป็นไปตามประมาณการหรือไม่ ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีน จะทวีความรุนแรง หรือว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ในทิศทางใด หากไม่ดี ก็จะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงการเลือกตั้งในยุโรป ทั้งเยอรมนี และอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในยุโรป จึงต้องดูผลการเลือกตั้ง และต้องติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่รุนแรงมากขึ้น เพราะสหรัฐอเมริกายังยืนยันที่จะใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ หรือคิวอี3 คิวอี 4 และแนวโน้มค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่จะแข็งขึ้น ทำให้การไหลเงินทุนของญี่ปุ่นจะหาที่ลง หรือยุโรป และสหรัฐอเมริกาก็ต้องหาที่ลง และที่จะดึงเงินลงทุนได้คือ ประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูง คือเอเชีย และไทย ต้องจับตาดูการบริหารความเสี่ยงการไหลเข้าออกของเงินทุนว่าทำได้ดีแค่ไหน เพราะจะกระทบต่อค่าเงินบาทด้วย