xs
xsm
sm
md
lg

คลังเล็งปรับเป้าGDP สศค.คาดปีนี้โตกว่า5.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สศค. เล็งปรับเป้า "จีดีพี" ปีนี้ และปีหน้าใหม่ หลังพบสัญญาณ "จีดีพี" จะขยายตัวมากกว่าประมาณการเดิม พร้อมระบุ แนวโน้มปีหน้า การลงทุนภาครัฐ จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่ 2 เดือนแรกของปีงบฯ56 สะท้อนเศรษฐกิจในประเทศโต รัฐตัวนำกระตุ้น เงินคงคลังยังปึ้ก

    นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.จะปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ในปลายเดือนธันวาคมนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวมากกว่าประมาณการเดิมที่ 5.5% เนื่องจากการบริโภคและการลงภาคเอกชน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปีนี้ ขยายตัวสูงมาก โดยการบริโภคเอกชนขยายตัวถึง 5.2% เป็นการเติบโตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ 8 ปีที่ผ่านมาของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของประชาชน ซึ่งในอดีตโตเกิน 3% หรือ 4% ก็ถือว่ามากที่สุดแล้ว

    ทั้งนี้เมื่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเติบโตที่สูงในปีนี้แล้ว ปีหน้าก็คงไม่สูงนัก แต่ก็ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอาจจะ 4-5% แต่ไม่ใช่ 5.2% ในปีนี้ ดังนั้น การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะสมดุลมากกว่าปีนี้ โดยคาดว่าน่าจะชะลอลงจากปีนี้ คือเหลือไม่เกิน 5% จากประมาณการเดิมที่ 5.2% โดยปัจจัยขับเคลื่อนจะมาจากทั้งการลงทุนของรัฐบาล การส่งออกที่ดีขึ้นกว่าปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวขึ้น การบริโภคและการลงทุนเอกชนก็จะเป็นตัวนำเช่นเดียวกัน ความสมดุลของการเติบโตในปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ เพราะฉะนั้น เสถียรภาพเศรษฐกิจก็ไม่มีอะไรที่น่าห่วง ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ ระบบสถาบันการเงินที่ยังแข็งแกร่งทั้งในปีนี้และปีหน้าจากสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ (บีไอเอส) ที่เฉลี่ย 15% จากที่กำหนดขั้นต่ำไว้ 8.5% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ก็ต่ำคือ ประมาณ 2% กว่า และกำไรของธนาคารพาณิชย์ยังเติบโตดี

    “ปีหน้าเศรษฐกิจไทย น่าจะเติบโตแบบมีศักยภาพในระดับที่ควรจะเป็นคือไม่ต่ำกว่า 5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น การส่งออกปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ แต่ตัวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแรงๆ คือ การลงทุนของภาครัฐ เพราะจะมีเม็ดเงินจำนวนมากออกมาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินของรัฐบาล 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบกับ พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำที่ยังเบิกจ่ายล่าช้าในปีนี้อีก ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการประมูล ก็คิดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ปีหน้าเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ที่จะถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งโดยปกติ เมื่อมีการลงทุนจากภาครัฐแล้วเอกชนก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนตาม” นายสมชัย กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกว่าจะเป็นไปตามประมาณการหรือไม่ ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีน จะทวีความรุนแรงหรือว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ในทิศทางใด หากไม่ดี ก็จะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงการเลือกตั้งในยุโรป ทั้งเยอรมนีและอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในยุโรป จึงต้องดูผลการเลือกตั้ง และต้องติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่รุนแรงมากขึ้น เพราะสหรัฐอเมริกายังยืนยันที่จะใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณหรือ คิว 3 คิวอี 4 และแนวโน้มค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่จะแข็งขึ้น ทำให้การไหลเงินทุนของญี่ปุ่นจะหาที่ลง หรือยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ต้องหาที่ลง และที่จะดึงเงินลงทุนได้คือ ประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูง คือเอเชียและไทย ต้องจับตาดูการบริหารความเสี่ยง การไหลเข้าออกของเงินทุนว่าทำได้ดีแค่ไหน เพราะจะกระทบต่อค่าเงินบาทด้วย

    นายสมชัยกล่าวว่า ส่วนฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม - พฤศจิกายน 2555) ว่ารัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 311,870 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 53,503 ล้านบาท หรือ 20.7% ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตรถยนต์ได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงเศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 611,980 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 294,792 ล้านบาท หรือ 92.9% ซึ่งเป็นผลจากการที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณก่อนมีผลบังคับใช้ล่าช้า ประกอบกับรัฐบาลได้เร่งดำเนินนโยบายทางการคลังของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 300,110 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 112,473 ล้านบาท (สาเหตุหลักจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง 102,135 ล้านบาท) ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวม 412,583 ล้านบาท และรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 44,998 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุลทั้งสิ้น 367,585 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 192,752 ล้านบาท

    “ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ ทิศทางการจัดเก็บรายได้ที่สูงกว่าเป้าหมาย สะท้อนถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจจากการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้รัฐบาลยังคงรักษาความเป็นผู้นำในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่องในขณะที่เงินคงคลังยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง” นายสมชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น