xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. ประกาศใช้บาเซิล 3 ดีเดย์ 1 ม.ค.56 ยันแบงก์พร้อม-ปฏิบัติได้ทันที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. ประกาศใช้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน “บาเซิล 3” โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ยันธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความพร้อม สามารถปฏิบัติได้ทันที

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ออกประกาศ ธปท. จำนวน 7 ฉบับ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินกองทุนตามแนวทางการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (บาเซิล 3) ของ BCBS โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศดำรงเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของไม่ต่ำกว่า 4.5% เงินกองทุนชั้นที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 6% และเงินกองทุนทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 8.5% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่ ธปท.กำหนดไว้ในปัจจุบัน และให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศดำรงเงินกองทุนทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 8.5% จากเดิมกำหนดไว้ที่ 7.5%

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ในไทยทั้งหมดมีสัดส่วนเงินกองทุนมากกว่า 8.5% อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนใหม่เพื่อรองรับเกณฑ์ดังกล่าว โดยธนาคารพาณิชย์ในไทยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio ประมาณ 16% รวมทั้งยังมีผลประกอบการที่น่าพอใจ โดยไตรมาส 3 ปี 2555 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรรวมประมาณ 135,000 ล้านบาท ขณะที่สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศอยู่ที่ 17% ซึ่งถือว่ามีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของบาเซิล 3 ได้ทันที

ทั้งนี้ การดำเนินการตามหลักเกณฑ์ บาเซิล3 จะช่วยให้สถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนมั่นคง และมีการพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคเศรษฐกิจในระยะยาว

ส่วนหลักเกณฑ์เรื่องการดำรงอัตราส่วนด้านปริมาณธุรกิจ รวมถึงมาตรการด้านการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ธปท. อยู่ระหว่างการติดตามกฎเกณฑ์ของ BCBS และวิเคราะห์ผลกระทบ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาปรับใช้กับระบบธนาคารพาณิชย์ไทยต่อไป

สำหรับหลักเกณฑ์บาเซิล 3 มี 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ ข้อแรก กำหนดให้เพิ่มปริมาณเงินกองทุนที่ต้องดำรง และเพิ่มคุณภาพเงินกองทุนด้วยการปรับคุณสมบัติของตราสารที่จะนับเป็นเงินกองทุน ข้อที่ 2 กำหนดมาตรฐานในการวัดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอรองรับภาวะวิกฤต และมีโครงสร้างแหล่งเงินทุนที่มั่นคงในระยะกลาง และระยะยาวเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ และข้อสุดท้าย ให้กำกับดูแลการขยายตัวของสถาบัน โดยกำหนดอัตราส่วนเงินกองทุนเพื่อเทียบกับปริมาณธุรกิจของสถาบันการเงิน
กำลังโหลดความคิดเห็น