xs
xsm
sm
md
lg

คาดปี 56 ศก.โลกดีขึ้น จับตาหลังเลือกตั้งญี่ปุ่นอัดเม็ดเงินสะเทือนบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. ส่งสัญญาณ ดบ.ต่ำ กระตุ้น ศก. ปี 56 พร้อมคาด ศก.โลกดีขึ้น จับตาหลังเลือกตั้งญี่ปุ่นอาจใช้เงินอัดฉีดในระบบ ทำให้หุ้น และราคาที่ดินปั่นปวน หวั่นสร้างแรงกดดันเงินบาท

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งแรก ของปี 2556 ในวันที่ 9 มกราคม 2556 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการการแก้ปัญหาของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลก มีความเสี่ยงมากกว่าความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินยังคงเป็นไปแบบผ่อนคลาย และเห็นว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ใกล้เคียงอัตราเงินเฟ้อที่ระดับร้อยละ 2.75 สามารถประคองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะเติบโตร้อยละ 4.7 ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของจีดีพีปี 2554 และ 2555 ซึ่งเฉลี่ยโตปีละ 3 แต่ยังไม่เต็มศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

นายประสาร กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยยังคงต้องติดตามผลการเลือกตั้งของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ และใกล้ชิดกับไทย หากญี่ปุ่นมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฝืดตัวเหมือนกับที่สหรัฐฯ ดำเนินการ ก็จะยิ่งเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโลกมายิ่งขึ้นอีก และสภาพคล่องเหล่านี้ก็ต้องหาช่องทางลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น หุ้น และที่ดิน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับทั่วโลกได้ ดังนั้น จึงต้องติดตามรายละเอียดจากรัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่น

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาการก่อหนี้ภาคครัวเรือน หลังจากที่สถาบันการเงินใช้การโฆษณากระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากนั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ทางกระทรวงการคลัง และ ธปท. เห็นร่วมกันที่จะมีมาตรการแก้ปัญหา โดยยังไม่มีข้อสรุปว่าจะใช้แนวทางใด ซึ่งมีแนวทางการพิจารณาหลายทาง ทั้งการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแล และออกกฎหมายรองรับเหมือนในต่างประทศ

สำหรับแนวทางที่ 2 คือ การมอบให้ ธปท.เป็นผู้ดูแลโดยตรง และแนวทางที่ 3 คือ การใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 หรือ ปว.58 มากำกับดูแล เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความผาสุกของประเทศ แต่ทางคลัง และ ธปท. ก็ไม่อยากใช้ ปว.58 แต่อย่างใด ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม และสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น