เอเอฟพี - เบลีซ ชาติเล็กๆ ในอเมริกากลางที่เติบโตจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก เสี่ยงเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หลังรัฐบาลผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรมูลค่า 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ วานนี้ (19)
นายกรัฐมนตรี ดีน แบร์โรว์ ยังพยายามเรียกความเชื่อมั่นจากทุกฝ่าย โดยระบุว่ากำลังเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้
“การเจรจาซึ่งกำลังดำเนินอยู่ เป็นไปในทิศทางที่พอมีความหวัง” แบร์โรว์ ให้สัมภาษณ์ที่สนามบินนครเบลีซซิตี
ผู้นำเบลีซชี้ว่า ยังพอมีเวลา “คลี่คลายสถานการณ์ ก่อนจะต้องหยุดเจรจา และยอมรับว่า ใช่ เราล้มละลายแล้ว”
เบลีซ ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักในชื่อ “บริติช ฮอนดูรัส” เมื่อครั้งยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จำเป็นต้องรีไฟแนนซ์หนี้ต่างประเทศมูลค่า 544 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็ครบกำหนดจ่ายคืนผลตอบแทนแล้ว โดยระยะปลอดหนี้ (grace period) 30 วันเพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อวานนี้(19)
มาร์ก เอสแปต หัวหน้าคณะผู้เจรจาของรัฐบาลเบลีซ เปิดเผยว่า อาจมีการกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ โดยคำนึงถึงศักยภาพในการจ่ายคืนของเบลีซ ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า รัฐบาลอาจตกลงกับเจ้าหนี้ได้สำเร็จ หากยอมชำระหนี้คืนบางส่วนเพื่อแสดงความจริงใจ
อย่างไรก็ตาม นายกฯ แบร์โรว์ ยืนยันว่า “ยังไม่มีการชำระหนี้บางส่วน” ในขณะนี้
เบลีซ ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียงเล็กน้อยบนชายฝั่งทะเลแคริบเบียน เป็นแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยวผู้นิยมการดำน้ำดูปะการัง, ตกปลา, เดินป่า และท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
แม้จะมีประชากรเพียง 330,000 คน แต่เบลีซกลับมีหนี้ภาครัฐสูงถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแม้จะเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระบบการเงินโลกทั้งหมด แต่ก็เป็นสัญญานร้ายสำหรับประเทศเล็กๆถึงยังต้องเผชิญปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจที่ซบเซา
นักวิเคราะห์ระบุว่า รัฐบาลเบลีซต้องการยืดเวลาชำระหนี้ออกไปเป็น 50 ปี โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 15 ปี ในอัตราผลตอบแทนเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ จากที่สูงถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน