เดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล - บรรดานักลงทุนและบริษัทผู้ประกอบการเริ่มย้ายเงินทุนออกจากจีนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจแดนมังกร อันเป็นความเคลื่อนไหว ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของรัฐบาลปักกิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้กลับมาขยายการเติบโตอย่างรวดเร็วอีกครั้ง
มีสัญญาณบ่งชี้ว่าผู้ส่งออกของจีนกำลังไม่นำรายได้ในรูปดอลลาร์ ไปแลกเป็นเงินหยวน และนักลงทุนจำนวนหนึ่งกำลังโยกเงินทุนออกนอกจีน เมื่อธนาคารกลางของจีนรายงานข้อมูลใหม่เมื่อวันอังคาร (14 ส.ค.) ว่า ธนาคารพาณิชย์ของจีนเป็นผู้ขายเงินหยวนเป็นจำนวนสุทธิ 3,800 ล้านหยวน ( 597 ล้านดอลลาร์) ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศประจำเดือนก.ค. ที่ผ่านมา
ตัวเลขล่าสุดนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากช่วงเวลาส่วนใหญ่ใน 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนมีความเชื่อมั่นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และหิวเงินหยวน นอกจากนั้น เงินทุนเก็งกำไร หรือเงินร้อน ยังทะลักเข้ามามากมาย และเงินทุนที่ไหลเข้าจีนปริมาณมหาศาลเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์จีนปล่อยเงินกู้กันอย่างฟุ่มเฟือย ราคาสินทรัพย์พุ่งสูง และเงินหยวนแข็งค่า
นาย จัง หมิง นักวิจัยของรัฐบาลจีนระบุว่า นับจากช่วงครึ่งหลังของปี 2554 มา วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปที่เลวร้ายลง ความตื่นตระหนก ที่เกิดขึ้นในระบบการเงินโลก และการพยายามลดภาระหนี้ของบริษัทผู้ประกอบการ ล้วนส่งผลให้นักลงทุนโยกเงินไปอยู่ยังที่ปลอดภัย และเงินทุนระยะสั้นไหลออกจากตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ เข้ามายังสหรัฐฯ เงินทุน ที่ไหลออกเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจจีนถูกแรงกระแทก
จากการสำรวจนักลงทุนเอกชน 2,600 ราย โดยไชน่า เมอร์แชนต์สแบงก์ ( China Merchants Bank) และบริษัทที่ปรึกษาเบนแอนด์โค (Bain &Co) ในรายงานฉบับปี 2554 ระบุว่า เกือบร้อยละ 60 ได้ย้ายเงินไปต่างประเทศแล้ว หรือกำลังพิจารณาอยู่
นาย เหอ เหว่ยเซิ่ง นักกลยุทธ์การซื้อขายเงินตราต่างประเทศของซิติแบงก์ระบุว่า บริษัทในประเทศหลายรายของจีนกำลังเลือกถือครองรายได้จากต่างประเทศในรูปดอลลาร์ มากกว่าเงินหยวน ซึ่งทำให้การรับซื้อเงินตราต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์จีนลดลง เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีความมั่นใจต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจจีนน้อยลง
การพากันถือครองเงินดอลลาร์นี้ยังส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขาเห็นว่าทิศทางนี้จะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า โดย เงินหยวนต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงร้อยละ 0.7 มาตั้งแต่ต้นปีมานี้
การไหลของเงินทุนกำลังเปลี่ยนทิศทางไปในขณะนี้ ซึ่งมีส่วนทำให้ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทตกลง นับตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงหุ้น และสกุลเงินของจีน โดยดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพซิตปรับลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาบ้านตกลง ซึ่งยังมาจากสาเหตุอีกส่วนหนึ่งได้แก่นโยบายควบคุมความร้อนแรงในตลาดอสังหาฯของรัฐบาล โดยราคาอพาร์ตเมนต์หรูในเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นมณฑลที่มั่งคั่งทางภาคตะวันออกของจีนนั้นตกลงร้อยละ 8 ในปีที่แล้ว
นอกจากนั้น เม็ดเงิน ที่ไหลออกกำลังมีส่วนทำให้ราคาอพาร์ตเม้นต์หรูในฮ่องกงแพงขึ้น และทำให้นักซื้อชาวจีนเข้าไปในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไกลถึงกรุงลอนดอน สิงคโปร์ และนครซานฟรานซิสโก
นายรูเพิร์ต ฮูจเวิร์ฟ (Rupert Hoogewerf) ผู้ก่อตั้งหูรุ่นรีพอร์ต ซึ่งจัดอันดับความมั่งคั่งของเศรษฐีจีน ระบุว่า เศรษฐีชาวจีนกำลังหาทางกระจายเงินทอง โดยกำลังลงทุนส่วนตัวในด้านอสังหาฯ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าไปในสหรัฐฯ และฮ่องกง “แนวโน้มนี้อาจดำเนินต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า” เขากล่าว
นายคาลวิน เซิง ที่ปรึกษาด้านไอที ได้ซื้ออพาร์ตเมนต์ในนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียจำนวน 2 ,500,000 หยวนเมื่อเร็ว ๆ นี้
" ผมแค่ไปที่ธนาคาร ซื้อเงินดอลลาร์ออสเตรเลียสำหรับจ่ายเงินดาวน์ และโอนเงินไปออสเตรเลียเท่านั้นเอง" นายเซิงระบุ
" ผมกำลังจะไปเรียนหนังสือที่นั่น และคุณจะเห็นได้ว่า เป็นการลงทุนที่สมดุล ในกรณีมีความเสี่ยง ที่เศรษฐกิจจีนอาจตกต่ำลง"
การไหลเข้าของเงินทุน ที่ลดน้อยลงส่งผลให้ความพยายามของรัฐบาลปักกิ่งในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตสดใสทำได้ลำบากกว่าเดิม โดยธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงินแล้วในปีนี้กว่า 1.4 ล้านล้านหยวนในระบบการเงิน แต่การปล่อยเงินกู้ของภาคธนาคารยังเบาบางอยู่
นอกจากนั้น แม้ว่าการแฟบลงของฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์จะเป็นสิ่งดีในระยะยาวสำหรับเศรษฐกิจจีนก็ตาม แต่ในยามที่รัฐบาลมุ่งขยายการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ราคาที่ตกลงนี้ก็เสี่ยงต่อการกัดกร่อนความเชื่อมั่นและการลงทุนในประเทศได้เช่นกัน