สภาพัฒน์ฯ คาดจีดีพีปีนี้โตได้ 5.5% ส่งสัญญาณเตือนมหันตภัยปี 56 เงินท่วมโลก อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน กดดันค่าบาทแข็ง แนะจับตา “ภัยแล้ง” ขย่มซ้ำ หวั่น ศก.ปีหน้าอ่วม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัว 5.5% ซึ่งเป็นขอบล่างของการประมาณการ 5.5-6.0% เทียบกับการขยายตัว 0.1% ในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่ 3.0% เทียบกับ 3.8% ในปี 54 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจาก 1.7% ของจีดีพี ในปี 2554
การฟื้นตัวของภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมมีความล่าช้ากว่าสมมติฐานครั้งก่อน โดยล่าสุด 2 พ.ย.2555 ยังมีกิจการ 155 รายที่ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการ หรือคิดเป็น 18.5% ของจำนวนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และสามารถกลับมาผลิตได้บางส่วนจำนวน 460 ราย ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับข้อมูลครั้งก่อน ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม และทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเกิน 5.5% ลดลง
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของราคา และปริมาณสินค้าส่งออก โดยการผลิต และการส่งออกของประเทศต่างๆ ของเอเชียเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในเดือน ต.ค.55 แต่การขยายตัวของการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนในประเทศมีแนวโน้มสูงกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายระยะเวลามาตรการการคืนภาษีรถคันแรก ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการผลิต และการส่งออก
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2556 คาดจีดีพีขยายตัว 4.5-5.5% อัตราเงินเฟ้อในช่วง 2.5-3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.0% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้ สภาพัฒน์มองว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวเข้าสู่อัตราการขยายตัวปกติมากขึ้น อุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศยังคงมีพลวัตการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวตามการลดลงของแรงส่งจากรายจ่ายเพื่อฟื้นฟูบูรณะประเทศภายหลังอุทกภัย
แต่เม็ดเงินลงทุนใหม่ทั้งในภาครัฐ และเอกชนจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนการลงทุนโดยภาพรวม เช่นเดียวกับการปรับตัวดีขึ้นของเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคการส่งออกมีบทบาทมากขึ้น เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มในเกณฑ์ดีทั้งในด้านราคา การจ้างงาน และดุลบัญชีเดินสะพัด
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศมากขึ้น ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2555 และในปี 2556 ควรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว และการป้องกันความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ปัจจัยเสี่ยง และข้อจำกัดเศรษฐกิจในปีหน้า คือ ปัญหาภัยแล้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สาคัญต่อการขยายตัวของการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร การบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงยังมีข้อจำกัดในการขยายตัว เนื่องจากต้นทุนค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และเศรษฐกิจยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สาคัญของสินค้าในกลุ่มนี้ยังคงอยู่ในช่วงของภาวะความตกต่ำทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ สภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจ และการเงินโลกที่เกิดจากมาตรการขยายปริมาณเงินของประเทศต่างๆ ยังเป็นความเสี่ยงที่อาจจะสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าคาด รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาความผันผวนในระบบเศรษฐกิจ และการเงิน โดยเฉพาะช่วงหลังของปีที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการโยกย้ายเงินทุนออกจากตลาดพันธบัตรของประเทศที่มีความปลอดภัยออกมาแสวงหากำไรในตลาดเงิน ตลาดทุนของประเทศกำลังพัฒนา และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น
ราคาน้ำมัน ยังมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจ และการเงินโลกที่อยู่ในระดับสูง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในลักษณะดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะสร้างแรงกดดันด้านปัญหาเงินเฟ้อ และสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ประเมินสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปีหน้า ได้แก่ เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจะขยายตัว 3.9% และ 5.0% ตามลำดับ เร่งตัวขึ้นจากปี 2555 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะ สหรัฐฯ และจีน ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่าจะชะลอตัว และเศรษฐกิจยุโรปขยายตัวต่ำ แต่เป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวในปี 2555
ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2556 มีแนวโน้มอยู่ในช่วง 108-113 ดอลลาร์/บาร์เรล เทียบกับ 109.5 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 55 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.00-31.00 บาท/ดอลลาร์ โดยคาดว่าจะมีความผันผวนในกรอบแคบๆ ในช่วงที่เหลือของปี 55 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 56 ตามความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศเศรษฐกิจสำคัญๆ
ราคาสินค้าส่งออก และนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.0-5.0% และ 3.5-4.5% ตามลาดับ เทียบกับ 0.5% และ 1.8% ในปี 55 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลกซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทาให้ความต้องการ และราคาสินค้าสำคัญๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ และยูโร การเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์สูง ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยตลอดปี 56 จำนวน 22.5 ล้านคน เทียบกับ 21.9 ล้านคนในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 2.7%