xs
xsm
sm
md
lg

“เอเชีย” เปลี่ยนใจหันมาอ้าแขนรับ QE3 หวังได้เงินกระตุ้น ศก.ที่ชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - เศรษฐกิจเอเชียที่เคยหัวเสียกับปัญหาเงินเฟ้อพุ่งและค่าเงินแข็ง ตอนที่สหรัฐฯ งัดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาล ซึ่งเรียกกันว่า “มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ” (Quantitative Easing หรือ QE) ออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของตน 2 รอบที่แล้ว มาวันนี้กลับยิ้มร่าอ้าแขนรับเงินสดระลอกใหม่ ด้วยความหวังว่าจะช่วยเข็นอัตราเติบโตของเอเชียเองที่เริ่มติดขัดได้

สองปีก่อนตอนที่วอชิงตันอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงิน แล้วก็มีเงินจำนวนมากมายไหลต่อมายังบรรดาตลาดซึ่งเศรษฐกิจยังคงเติบโตดีกว่าโลกตะวันตก โดยเฉพาะในตลาดแถบเอเชียนั้น ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ได้แสดงความหวาดหวั่นพรั่นพรึงว่าการไหลทะลักของ “เงินร้อน” พวกนี้อาจบ่อนทำลายเสถียรภาพเศรษฐกิจของพวกตน และดันให้สินค้าออกของพวกตนมีราคาแพงขึ้น

ดีบีเอส แบงก์ใหญ่ของสิงคโปร์รายงานว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2010 ถึงสิงหาคม 2011 ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ตลาดหุ้นทะยาน 21% และค่าเงินแข็งขึ้น 8.1% ขณะที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย 0.50%

แต่แม้ในครั้งนั้นค่าดอลลาร์ทรุดทำสถิติเมื่อเทียบเยน สงครามค่าเงินระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามที่มีผู้คาดการณ์กัน ขณะเดียวกับที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัวลง ซึ่งกระตุ้นให้พวกนักลงทุนพากันหนีหายจากตลาดเอเชียไป

อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการกระตุ้นรอบล่าสุดที่เป็นมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) ซึ่งประกาศออกมาโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อ 6 สัปดาห์ที่แล้ว บังเกิดขึ้นในเวลาที่อัตราเติบโตของเอเชียกำลังถูกฉุดรั้งจากวิกฤตหนี้ยุโรปและการชะลอตัวเรื้อรังของเศรษฐกิจอเมริกา

แผนการของเฟดในการซื้อหุ้นกู้และพันธบัตรเดือนละ 40,000 ล้านดอลลาร์ในอนาคตอันใกล้ แล้วยังตามมาด้วยกลไกคล้ายกันของธนาคารกลางยุโรปและแบงก์ชาติญี่ปุ่นนั้น เริ่มปรากฏผลทำนองเดียวกับในระลอกก่อนๆ แล้ว กล่าวคือ มีรายงานว่ากำลังมีกระแสเงินสดหลั่งไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์อีกครั้ง

กระแสดังกล่าวได้รับการตอกย้ำจากการที่ทบวงการเงินฮ่องกง (HKMA) ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นธนาคารกลางของเขตเศรษฐกิจพิเศษของแดนมังกรแห่งนี้ ต้องเข้าแทรกแซงตลาดในสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อสกัดไม่ให้ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงขยับแข็งขึ้นจนเกินไปเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนั้น ตลาดหุ้นฮ่องกงยังทะยานขึ้น 10% นับจากมีการประกาศข่าว QE3 และ HKMA คาดว่าจะมีเงินสดไหลเข้ามาเพิ่มเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติตระหนักว่าตลาดฮ่องกงให้ผลตอบแทนดีกว่าในตะวันตก

เงินสดจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นเครื่องหมายแสดงถึงดัชนีความเชื่อมั่นที่ดีก็จริงอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็ดันให้ค่าเงินแข็งขึ้น กระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ และทำให้สินค้าออกมีราคาแพงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองแง่ดีกับ QE3 ที่เปิดตัวออกมาในช่วงที่เศรษฐกิจเอเชียไร้ความแน่นอนแบบนี้

ราจีฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอสเอส โกลบอล อินไซต์ประจำเอเชีย-แปซิฟิก มองว่า แม้การส่งออกของเอเชียได้รับผลกระทบ แต่โดยรวม QE3 จะสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาคแถบนี้ ด้วยการกระตุ้นการฟื้นตัวของอเมริกาและรักษาอุปสงค์ที่อเมริกามีต่อสินค้าออกของเอเชีย

ส่วน บีบีวีเอ รีเสีร์ช ระบุว่า เงินทุนไหลเข้าระลอกใหม่ที่มาถึงขณะที่เอเชียมีการเติบโตที่อ่อนแอและราคาสินทรัพย์อ่อนตัว จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนและการเติบโตสูง ต่างจากในปี 2010 ที่เศรษฐกิจเอเชียเวลานั้นอยู่ในอาการร้อนแรงเกินไปอยู่แล้ว

เงินทุนที่ไหลเข้าคราวนี้ บีบีวีเอ รีเสิร์ชคาดหมายว่าควรส่งผลให้การลงทุนและดีมานด์ภายในภูมิภาคแถบนี้เพิ่มขึ้น และช่วยขับเคลื่อนราคาสินทรัพย์ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจเอเชียอีกทอด

มองกันเฉพาะตลาดหุ้น QE3 ก็กำลังกระตุ้นสภาพคล่องในตลาดเอเชียอย่างชัดเจน โดยตลาดหุ้นไทยปีนี้บวกไปแล้ว 25%, ฟิลิปปินส์ 24%, สิงคโปร์ 15% และมุมไบ 20%

ก่อนหน้านี้จีนเปรยว่ากังวลมากเกี่ยวกับ QE3 แต่ก็เห็นชัดว่ามีน้ำเสียงอ่อนลงกว่าเมื่อปี 2010 ซึ่งปักกิ่งต่อว่าต่อขานวอชิงตันว่าทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยง จากการกระตุ้นการเติบโตของตัวเองโดยการอัดฉีดเงินสดเข้าสู่เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนไหว

สำหรับเอเชียโดยรวมนั้น เห็นได้ชัดว่ากำลังลงความเห็นไปในทางอ้าแขนต้อนรับมาตรการของเฟด

สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดระบุว่า มีเงินสดไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดพันธบัตรและหุ้นกู้ของอินโดนีเซียราว 1,300 ล้านดอลลาร์ในเดือนที่แล้ว เทียบกับเงินสดไหลออกสุทธิ 540 ล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม

เกาหลีใต้มีเงินสดไหลเข้าสุทธิ 1,400 ล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน เทียบกับที่ไหลออก 2,400 ล้านดอลลาร์ในเดือนก่อนหน้า

ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวเกินคาด ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อจึงเป็นรองความจำเป็นในการผลักดันการเติบโต

สัปดาห์ที่แล้ว แบงก์ชาติฟิลิปปินส์หั่นดอกเบี้ย 0.25% โดยโรแลนโด ตังปาลัน รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนเศรษฐกิจระบุว่า สิ่งสำคัญคือการกระตุ้นการเติบโตภายในและส่งเสริมการค้ากับประเทศอื่นๆ ต่อไป

ที่มาเลเซีย มาโนการัน มอตเทน นักเศรษฐศาสตร์ของอัลลิแอนซ์ อินเวสต์เมนต์ บอกว่า ไม่คาดหวังว่าการแข็งค่าของริงกิตจะดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น

ด้านดีบีเอสระบุในรายงานว่า แท้จริงแล้ว 80% ขึ้นไปของเงินทุนที่เฟดอัดฉีดยังคงอยู่กับเฟดในรูปทุนสำรองส่วนเกิน

รายงานนี้ชี้ว่า หลังเฟดคลอดมาตรการ QE2 เงินที่เห็นว่าทะลักเข้าสู่เอเชียนั้น เป็นเงินของพวกนักลงทุนที่แสดงการตอบรับนโยบายของเฟดและรู้สึกกล้าเสี่ยงมากขึ้นต่างหาก ยังไม่ใช่เงินที่ได้มาจากเฟดจริงๆ ดังนั้น เราจึงอาจคาดได้ว่า QE3 ก็น่าจะทำให้เกิดปรากฏการณ์เดียวกันอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น