xs
xsm
sm
md
lg

จาก OMT ถึง QE3 …. อานิสงส์สำหรับกองทุนสินทรัพย์เสี่ยง (?)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Design Your Life by Mutual Fund

โดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด
www.kasikornasset.com
KAsset Call Center 0 2673 3888

ภายในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์ ตลาดการเงินทั่วโลกได้รับข่าวดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการของธนาคารกลางยุโรปในการเข้าซื้อพันธบัตรไม่จำกัดปริมาณ (มาตรการ OMT) ต่อเนื่องมาจนถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีมีมติว่าการลงมติเห็นชอบต่อการจัดตั้งกลไกการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของยุโรป หรือ ESM ของรัฐบาลเยอรมนีเพื่อแก้ปัญหาหนี้ในภูมิภาคยุโรปไม่ขัดกับกฎหมาย และล่าสุด คือ ข่าวดีจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่ทุกคนรอคอย หรือที่เรียกกันว่า QE3

มติที่ออกมาจาก Fed เป็นสิ่งที่เหนือกว่าตลาดคาดการณ์ไว้พอสมควร เนื่องจากมาตรการทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น QE1, QE2 หรือ Operation Twist ต่างก็มีการระบุวงเงินและระยะเวลาที่จะดำเนินมาตรการเอาไว้อย่างชัดเจน แต่มาตรการ QE3 ในครั้งนี้ นอกจากจะไม่ได้จำกัดระยะเวลาที่จะดำเนินการแล้ว ยังไม่ได้กำหนด “วงเงินรวม” ที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย โดยรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ มีสาระสำคัญหลักๆ 2 ส่วนคือ 1) การอนุมัติวงเงินเพื่อเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (Mortgage Backed Securities หรือ MBS) ด้วยวงเงินประมาณ 4 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อเดือน โดยไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาที่จะดำเนินการ หรือวงเงินรวม โดย Fed ระบุแต่เพียงว่า จะดำเนินต่อไปอีกสักระยะแม้ว่าหลังจากเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแล้วก็ตาม เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจจะสามารถมีเสถียรภาพได้หลังจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว และ 2) การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ 0 - 0.25% ต่อเนื่องออกไปจนถึงกลางปี 2558 ซึ่งขยายเวลาจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ปลายปี 2557 ในขณะที่มาตรการปัจจุบันที่ยังคงดำเนินการอยู่คือ Operation Twist หรือการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวและขายพันธบัตรระยะสั้น เพื่อกดดันอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดให้อยู่ในระดับต่ำ ก็จะยังคงดำเนินไปจนถึงสิ้นปี โดยธนาคารกลางสหรัฐฯยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากตัวเลขการจ้างงานยังคงไม่ฟื้นตัวดีอย่างมีนัยสำคัญก็อาจจะมีการพิจารณาการเข้าซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าเมื่อพิจารณาวงเงินที่ระบุว่าจะเข้าซื้อ MBS เดือนละประมาณ 4 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เทียบกับในช่วงการดำเนินมาตรการอื่นๆที่ผ่านมา ทั้ง QE1, QE2 และ Operation Twist อาจจะดูไม่มากนัก แต่เมื่อนำมารวมกับวงเงินของ Operation Twist ที่มีอยู่ปัจจุบันจนถึงปลายปี จะทำให้วงเงินรวมในการใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในคราวนี้ มีวงเงินรวมกันมากกว่าครั้งก่อนๆ และน่าจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯให้ฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าเป้าหมายของมาตรการทางการเงินที่ผ่านมา กับเป้าหมายของมาตรการ QE3 ในครั้งนี้จะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถเติบโตได้ และก่อให้เกิดการจ้างงานเพื่อช่วยลดอัตราการว่างงาน แต่รายละเอียดของสินทรัพย์ที่เข้าซื้อในคราวนี้ จะแตกต่างจากครั้งก่อนๆ เนื่องจากมาตรการเดิมอย่าง QE2 และ Operation Twist เน้นการซื้อสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรรัฐบาล เพื่อกดดันอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรให้ปรับตัวลดลง ขณะที่ QE3 จะเน้นที่การซื้อสินทรัพย์ประเภท MBS โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกดดันอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาวให้ต่ำลง เพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการซื้อบ้านใหม่ และรีไฟแนนซ์บ้านเก่าซึ่งจะทำให้ภาคครัวเรือนมีรายจ่ายด้านดอกเบี้ยต่ำลงและมีเงินคงเหลือเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯเอง ก็เป็นภาคธุรกิจที่เริ่มจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าภาคอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาคการผลิต ดังนั้น การกระตุ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์จะช่วยหนุนตลาดจำนอง รวมทั้งช่วยทำให้ภาวะทางการเงินในวงกว้างมีความผ่อนคลายมากขึ้นก็จะเป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว มาตรการ QE3 ยังจะช่วยกดดันค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯให้มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งจะช่วยให้ภาคการส่งออกของสหรัฐฯมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากที่ชะลอตัวอยู่ ณ ปัจจุบัน และจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯในอนาคต

สำหรับกระแสตอบรับต่อมาตรการ QE3 ของสหรัฐฯในครั้งนี้ เป็นไปในเชิงบวก และส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก รวมทั้งแนวโน้มการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น กองทุนทองคำ และกองทุนน้ำมัน ต่างก็ปรับตัวขึ้นกันถ้วนหน้า ในขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับมีมูลค่าลดลง (หรือมีผลตอบแทนของพันธบัตรเพิ่มขึ้น) เพราะความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งยุโรป และในสหรัฐฯ เริ่มมีความคลี่คลายและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงทำให้นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น และพร้อมที่จะเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ มากพอที่จะเป็นข่าวดีสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างมาก แต่ที่ยังคงต้องจับตากันต่อไปคือ QE3 ที่ส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงและช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้อย่างล้นหลามในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะสามารถรักษาความเชื่อมั่นนี้ไว้ได้เพียงใดในระยะยาว เพราะที่ผ่านมามาตรการ QE1, QE2 หรือแม้แต่ Operation Twist ล้วนแล้วแต่ส่งผลในทางบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปและมีข้อมูลบ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง เมื่อสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงก็ย่อมจะปรับตัวลดลงอีก และเป็นเหตุให้ต้องออกมาตรการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่เพียงเท่านั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจเป็นเหตุให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่สามารถขยายตัวได้อย่างชัดเจน และอาจจะทำให้สหรัฐฯต้องเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า Stagflation คือ ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวแต่มีเงินเฟ้อสูง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่าอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่สามารถขยายตัวได้อย่างชัดเจน ซ้ำเติมให้สหรัฐฯ ต้องประสบกับภาวะ Stagflation หรือภาวะที่มีปัญหาเงินเฟ้อซึ่งควบคู่กับภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทวีความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจขึ้นไปอีกขั้น อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในคราวนี้ซึ่งยังไม่ได้มีกำหนดว่า จะสิ้นสุดเมื่อใด และมาตรการ Operation Twist ที่เดิมทีจะสิ้นสุดลงเพียงสิ้นปีนี้ ก็ได้รับการต่ออายุจากทางการสหรัฐฯ ให้สามารถดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ ซึ่งเมื่อความเสี่ยงจากปัญหา Fiscal Cliff ในสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว และปัจจัยภายนอกอย่างการแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปซึ่งมีแนวทางที่ความชัดเจนขึ้น อาจพอทำให้เชื่อได้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะยังคงส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้นานกว่ามาตรการที่ผ่านๆ มา

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมเตรียมพบกับเทศกาล ตลาดนัดกองทุนรวม : Mutual Fund Fair @ Central Plaza ปิ่นเกล้า พบกับ บลจ.ชั้นนำ 16 แห่งที่จะมาให้คำปรึกษาและบริการด้านการลงทุน พร้อมโปรโมชั่นต่างๆ มากมาย และร่วมฟังสัมมนาเจาะลึกกับผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ ตลอด 4 วัน งานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27 - 30 ก.ย. 2555 เวลา 11.00 - 20.00 น. บริเวณ ชั้น G Zone E ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า


กำลังโหลดความคิดเห็น