xs
xsm
sm
md
lg

MFC เชื่อกรีซไม่ออกจากยูโรโซน ชี้สหรัฐฯ อาจใช้ QE3 หลังตัวเลข ศก.ไม่ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.เอ็มเอฟซีชี้เศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ แต่ยังรับปัจจัยเสี่ยงจากปัญหากรีซ เชื่อไม่ออกจากยูโรโซน ขณะเดียวกันมีแนวโน้มที่สหรัฐฯ อาจออก QE3 กระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบหลังตัวเลขไม่ดี ระบุหุ้นไทยยังไปต่อได้ที่ระดับ 1,265 จุด จากการเติบโตของ บจ.ในปีนี้ที่ระดับ 18%

นางพัณณรัชต์ บรรพโต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี กล่าวว่า การลงทุนในทั่วโลกช่วงนี้ยังคงมีตัวลขที่บ่งบอกถึงการเติบโต โดยราคาหุ้นขณะนี้ยังถูก อัตราดอกเบี้ยยังต่ำ รวมทั้งยังมีสภาพคล่องที่สูง ทำให้การลงทุนในหุ้นยังคงให้ผลตอบแทนได้ต่อไป แต่ยังมีความกังวลในเรื่องสถานการณ์ของประเทศกรีซ ตลาดจึงมีความผันผวนมากกว่าเดิม แต่ บลจ.เอ็มเอฟซีเชื่อว่าประเทศกรีซจะยังคงอยู่ในยูโรโซนต่อไป

โดยเอ็มเอฟซีมองโอกาสที่กรีซจะออกจากกลุ่มยูโรมีประมาณ 30% เท่านั้น เนื่องจากการปล่อยให้กรีซออกจากกลุ่มจะส่งผลกระทบที่รุนแรงมากกว่านี้ ไม่เพียงแต่กรีซจะหยุดชำระหนี้คืนมากกว่า 2 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 2% ของเศรษฐกิจยุโรปเท่านั้น แต่อาจทำให้เงินไหลออกจากธนาคารในกรีซและลามไปประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารล้มได้และจะกระทบกลุ่มยูโรทั้งหมด จึงคาดว่าธนาคารกลางต่างๆ จะออกมาตรการต่างๆ มาทันเวลา รวมทั้งผ่อนคลายมาตรการการรัดเข็มขัดลง นอกจากนี้คาดว่าจะมีมาตรการ LTRO ออกมาอีก ส่วน QE3 ยังคงต้องติดตาม แต่ตลาดคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการนี้ออกมา

“ที่ผ่านมามีเงินไหลออกจากธนาคารในกรีซแล้วประมาณ 40% แต่สเปนและอิตาลียังไม่มีเงินไหลออก แต่นักลงทุนก็ยังกังวลซึ่งต้องจับตาผลการเลือกตั้งของกรีซในวันที่ 17 มิถุนายนนี้”นางพัณณรัชต์กล่าว

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยตลาดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโต 2.8% ขณะที่เอเชียเติบโต 6-8% ซึ่งจีนยังเติบโตสูงสุดและไทยก็น่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากเป็นประเทศที่นักลงทุนทั่วโลกปรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวจากปัญหาน้ำท่วม การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาส 2 ปี 55 และอุปสงค์ในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสียงสำคัญ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะทางฝั่งยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย ตลอดปี 2555 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตระหว่าง 5.5-6.0% ด้านเงินเฟ้อ คาดว่าจะขยายตัวระหว่าง 3-3.5% ด้านการดำเนินนโยบายการเงิน แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ความเป็นห่วงต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะข้างหน้า แต่จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอโดยเฉพาะในกลุ่มยุโรป จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.00% ต่อปีตลอดทั้งปี 2555

นายชาคริต พืชพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายตราสารทุน กล่าวว่า ตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนในระยะสั้นเพราะรอผลการเลือกตั้งของกรีซและการแก้ปัญหาหนี้ของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยุโรป ซึ่งหากผลการเลือกตั้งของกรีซเป็นพรรครัฐบาลเดิมตลาดจะตอบสนองในทิศทางบวก นอกจากนี้ การที่หุ้นไทยปรับตัวลดลงประมาณ 10% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจากความกังวลกรีซที่จะออกจากกลุ่ม ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง กำไรบริษัทจดทะบียนขยายตัวโดดเด่น 18-20% ในปีนี้จะเป็นตัวสนับสนุนตลาดไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเอ็มเอฟซียังมองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,265 จุดหรือระดับ P/E 13 เท่า จากปัจจัยการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะอยู่ที่ 18% ในปีนี้ และมองระดับต่ำสุดที่ 1,070 จุด ซึ่งหากดัชนีปรับลดลงมาที่ระดับ P/E ที่ 11 เท่า ก็เป็นโอกาสที่จะเข้าไปลงทุน

สำหรับปัญหาการเมืองในประเทศยังคงต้องติดตามสถานการณ์ โดยปัจจุบันให้น้ำหนักกับปัญหาของยุโรป 80% และการเมืองไทยเพียง 20% เท่านั้น โดยกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันหุ้นหลายๆ ตัวราคาย่อลงมาจนน่าสนใจ และแนะนำให้ลดการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกประเทศ

นายเกษมทัศน์ ทรรทรานนท์ ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายตราสารทุนต่างประเทศ กล่าวว่า โอกาสที่จะมี QE3 ออกมามีความเป็นไปได้ หากดูจากดัชนีวัดความน่าจะเป็นของมาตรการทางการเงินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 94.50% โดยจากอดีตที่ผ่านมาเมื่อครั้งที่ดัชนีขึ้นสู่ระดับมากกว่า 90% จะมีมาตรการทางการเงินออกมา เช่น QE1 ในปี 2008 QE2 ในปี 2010 และ Operation Twist ในปี 2011 และทุกครั้งที่มีมาตรการจะทำให้เงินดออลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงและส่งผลให้สินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะทองคำที่ปรับตัวรวดเร็วใน 3 ปีที่ผ่านมา

“หากมีมาตรการออกมาคาดว่าจะทำให้ราคาทองคำกลับไปแถว 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ได้ในปีนี้ จึงแนะนำให้จัดสรรเงินลงทุนทองประมาณ 10% ของพอร์ต ยิ่งการที่สหรัฐฯ ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำไปอีก 2 ปียิ่งทำให้สภาพคล่องในตลาดสูง โอกาสเกิดเงินเฟ้อมีมากขึ้น ทองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ”นายเกษมทัศน์กล่าว

นางพัณณรัชต์ กล่าวเสริมว่า ในไตรมาส 3 นี้นักลงทุนควรทยอยซื้อได้ โดยไม่ควรกลัวความเสี่ยงมากเกินไป เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นอยู่ในเกณฑ์ดี จึงแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้และหรือตราสารตลาดเงินประมาณ 40% และจัดสรรการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวและ RMF ที่เน้นหุ้นประมาณ 50% ส่วนที่เหลือ 10% ลงทุนใน Gold RMF
กำลังโหลดความคิดเห็น