ธปท. ชี้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยเป็นผลจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเอเชีย และไทย แนะรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพราะจะช่วยเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “สแกนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปี 2556 โอกาสและความท้าทายใหม่” ในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2556” ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 30.60-30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากยังคงมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเอเชีย และไทย
ทั้งนี้ ธปท. มองว่า ความผันผวน และความรุนแรงของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะน้อยกว่าปี 2553-2554 เนื่องจากเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจภูมิภาคมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลง โอกาสในการได้รับผลกำไรจึงมีน้อยลง หลังจากที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยระดับราคาต่อกำไรสุทธิ หรือพีอี เรโช สูงขึ้นเป็น 17-18 เท่า จากเมื่อ 5 ปีก่อนที่อยู่ที่ 13 เท่า
ขณะที่หลักทรัพย์ และผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศแถบละตินอเมริกาสูงกว่าไทย นักลงทุนจึงเข้าไปลงทุนในละตินอเมริกาเพิ่มขึ้น ขณะที่ ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศเพื่อให้นักลงทุนไทยกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น ซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ซึ่ง ธปท.ยืนยันว่า จะไม่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน และจะเข้าดูแลเมื่อมีความผันผวนซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในปีนี้มีเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ และตราสารหนี้ไทยเป็นจำนวนมากในสัดส่วนถึงร้อยละ 10-11 จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 3-4 แต่เมื่อเทียบกับเงินลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรเอเชีย ในส่วนของไทยยังถือว่าไม่มาก
นางผ่องเพ็ญ ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งต้องการให้การลงทุนต่างๆ เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ อย่าให้มีการสะดุด เพราะจะเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้
ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีการขยายตัวดี และยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ หรือการซื้อเพื่อเก็งกำไรจากเงินทุนต่างชาติเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่ง ธปท.มีเครื่องมือในการดูแลโดยจะเริ่มใช้มาตรการดูแลการปล่อยกู้สำหรับซื้อที่อยู่อาศัยในแนวราบปีหน้า โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 95 ของราคาหลักประกัน
นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ยังต้องจับตาเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ คือสหรัฐฯ และจีนที่ยังมีปัญหา ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ รวมถึงไทยด้วย ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของไทยขยายตัวลดลง แต่การบริโภคในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง และความต้องการซื้อสินค้าที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง จึงเชื่อว่า GDP ของไทยปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ส่วนปีหน้า เชื่อว่าการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความเปราะบางและต้องค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการบริโภค การลงทุน รายได้ภาคครัวเรือน การจ้างงาน การใช้จ่าย และความเชื่อมั่นผู้ลงทุนยังอยู่ในเกณฑ์ดี จะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.6
ส่วนกรณี ครม.เห็นชอบร่างความตกลงความร่วมมือว่าด้วยการประกาศเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) และการเตรียมจัดประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบการค้า การลงทุน ไทย-สหรัฐฯ ในช่วงที่ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะเดินทางเยือนประเทศไทยช่วงปลายสัปดาห์นี้ หลังจากหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่าไทยจะเสียเปรียบสหรัฐฯ นั้น นางผ่องเพ็ญกล่าวว่า เรื่องนี้คงมีการหารือในระดับสูง ซึ่งส่วนตัวยังไม่ทราบในรายละเอียด เข้าใจว่าข้อตกลงต่างๆ ยังไม่ชัดเจน