ธปท. ยอมรับถูกบีบให้ใช้นโยบาย ดบ.ต่ำ กระตุ้น ศก. ชี้มีความเสี่ยงที่นโยบายการเงินอาจถูกกดดันให้เป็นประชานิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท. ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้คนเลิกออม หันไปเล่นหุ้น-ใช้จ่ายเกินตัว ปั่นฟองสบู่ ท้ายสุดทำ ศก.พัง ด้านศูนย์วิจัยฯ เตือนหากไทยใช้ ดบ.ต่ำ เป็นระยะเวลานาน อาจเกิดปัญหาเหมือน “สหรัฐฯ-ยุโรป” แนะภาครัฐควรส่งสัญญาณ ดบ. ให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคเอกชนวางแผนได้ถูกต้อง พร้อมแนะภาครัฐเปิดเผยตัวเลขหนี้สาธารณะที่แท้จริง พร้อมการวิเคราะห์ผลที่เกิดจากการดำเนินนโยบายรัฐให้ชัดเจน
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “นโยบายการเงิน การคลัง และตลาดทุน ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในภาคพื้นยุโรปและสหรัฐ” จัดโดยสมาคมศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นายไพบูลย์ ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่ ธปท. เป็นห่วงมาก คือ ในอนาคตอาจมีแรงกดดันจากฝ่ายต่างๆ ที่จะผลักดันให้นำนโยบายการเงินเป็นประชานิยมเหมือนกับการใช้นโยบายการคลังที่รัฐบาลกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ เพราะหากรัฐบาลกดดันให้ประเทศไทยเดินหน้าประชานิยมโดยการลดดอกเบี้ยต่ำๆ ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง จะทำให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตแน่นอน
"ทุกคนชอบอยู่แล้วกับเรื่องลดดอกเบี้ยให้ต่ำมากๆ แต่หากมีการลดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าความเป็นจริงก็จะทำให้ประชาชนลดหรือเลิกออมเงิน แล้วหันไปลงทุนอย่างอื่น เช่น การเล่นหุ้น การเก็งกำไรต่างๆ หรือการกู้เงินเพื่อนำไปใช้จ่ายเกินความจำเป็น สุดท้ายอาจทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ได้ รวมถึงทำให้เกิดปัญหาหนี้สินทั้งในส่วนของภาคประชาชนและธุรกิจได้ง่าย"
นายไพบูลย์ ยอมรับว่า ขณะนี้นโยบายการเงินของไทยกำลังเผชิญกับ 5 ความท้าทายในการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยประเด็นแรกคือ การขาดความอิสระในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ จากแรงกดดันของภาครัฐที่ต้องการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีความเสี่ยงที่นโยบายการเงินอาจถูกกดดันให้เป็นประชานิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.ไม่อยากให้เกิดขึ้น
ประเด็นที่สอง คือ ความท้าทายในการดูแลดอกเบี้ยในประเทศไม่ให้ต่ำเกินไป เพราะนอกจากนโยบายการเงินจะมีเป้าหมายหลักในการดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพแล้ว ยังต้องช่วยดูแลด้านการก่อหนี้ในระบบไม่ให้สร้างความเสี่ยงจนเกินไปด้วยเช่นกัน
ประเด็นที่สาม การหาจุดสมดุลของนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้ดูแลนโยบายการเงินจะต้องไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะหากมีการเร่งใช้กระสุนจนหมด ในภายภาคหน้าหากวิกฤตลุกลามขึ้นอีก ไทยจะหมดกระสุนทางการเงินในการรับมือ
ประเด็นที่สี่ การใช้นโยบายการเงินในการดูแลภาวะเงินทุนไหลเข้า ซึ่งขณะนี้มีความเสี่ยงที่ภูมิภาคเอเชียจะต้องเผชิญกับกระแสเงินทุนไหลเข้าจำนวนมหาศาลจากนโยบายของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
ประเด็นสุดท้าย คือ ความยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพนั้น นโยบายการเงิน และการคลังจะต้องสอดคล้องกัน
ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า หากประเทศไทยใช้นโยบายดำรงดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวตามมาเช่นเดียวกับสหรัฐฯ และยุโรปที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูง โดยการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีมูลค่าถึง 28% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แล้ว และมีความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีกจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำ
นายเชาว์ กล่าวว่า ตนเองอยากเห็นการประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมในอนาคตจากทางการ เพื่อจะได้รู้ว่าแนวโน้มดอกเบี้ยในอีก 1-2 ปีข้างหน้า รวมทั้งการคาดการณ์ตัวเลขจีดีพี และงบดุลจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย
สำหรับภาคการคลัง อยากให้ทางการมีการรายงานภาพรวมตัวเลขหนี้ในระบบรวมทั้งสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มเติมจากการแจ้งงบดุล รวมทั้งชี้แจงวิธีการระดมเงินของภาครัฐ นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐมีการวิเคราะห์ผลที่จะเกิดจากการดำเนินนโยบายเป็นสมมติฐานต่างๆ ขึ้นมาให้ชัดเจน เพื่อที่ภาคเอกชนจะสามารถประเมินสภาพคล่องในระบบ และทิศทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น