ธปท.คาดค่าเงินบาทครึ่งปีหลังผันผวนสูง ดบ.ในตลาดยังไม่เข้าสู่ภาวะขาขึ้น “ประสาร” ยืนยัน ธปท. พร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อรับมือ ศก.โลกผันผวน ปัดบอร์ด กนง. ขัดแย้ง หลังมีมติ 5 ต่อ 2 ให้คง ดบ. นโยบายที่ 3% เพราะภาพ ศก.โลกตอนนี้มีความขมุกขมัวเป็นสีเทา อาจมีพายุเข้าตอนไหนก็ได้ ดังนั้น ควรต้องการมีเครื่องมือเอาไว้ใช้ และรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังยังผันผวนอยู่ต่อไป หลังจากที่ไตรมาสแรกปีนี้ค่าความผันผวนอยู่ที่ร้อยละ 5.96 และลดลงเป็นร้อยละ 4.52 ในไตรมาส 2 โดยปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทที่สำคัญมาจากปัจัยภายนอก คือ ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก และปัญหาหนี้สาธารณะ รวมทั้งปัญหาสถาบันการเงินในยุโรปที่ยังยืดเยื้อแ ละยังต้องการความชัดเจนในขั้นตอนการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้ที่นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้นักลงทุนย้ายการลงทุนไปในตลาดที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจดี และมีผลตอบแทนสูงกว่า ได้แก่ ตลาดเกิดใหม่เอเชีย เงินทุนไหลเข้า-ออกตามภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป ทำให้เงินบาทน่าจะผันผวนอยู่ในช่วงที่เหลือของปี
ส่วนปัจจัยภายในประเทศ รายได้จากการส่งออกขึ้นอยู่กับการหาตลาดใหม่ที่ยังเติบโตได้ดี ขณะที่ความต้องการลงทุนในประเทศยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุล จะทำให้แรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าลดลง แต่ภาพรวมค่าเงินบาทยังเป็นทิศทางที่แข็งค่าอยู่
“เรื่องสหรัฐฯ ยุโรป เป็นเรื่องที่เราต้องคุยกันอีกหลายไตรมาส โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย อาจจะมีปัญหากระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทแน่ๆ เพราะขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาค มีการทบทวนตัวเลขการส่งออกใหม่ เฉพาะไทย ครึ่งแรกหดตัวไปร้อยละ 2-3 โดยในเดือนมิถุนายน หดตัวไปอย่างมาก”
นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ธปท.สนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค ใช้เงินสกุลเดียวกันในภูมิภาคในการชำระค่าสินค้า เพื่อลดความผันผวนของดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันค่าเงินบาทเทียบยูโร และการส่งอกไปยุโรปน้อยลง ทำให้รายได้ที่ได้กลับมาเป็นบาทลดลง
สำหรับสภาพคล่องในระบบปัจจุบัน ถือว่ามีสูงมาก แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ในโครงการบริหารจัดการน้ำ และอีก 2 ล้านล้านบาท ในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มมีการนำเข้าจากต่างประเทศมาในโครงการต่างๆ เมื่อใด จึงยังไม่เห็นความต้องการซื้อดอลลาร์ของรัฐบาล
“ตอนนี้การลงทุนมาจากภาคเอกชนมากกว่า ทั้งการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ และการออกไปลงทุนต่างประเทศ ดังนั้น ตอนนี้ยังไม่เห็นแรงกดดันให้สภาพคล่องลดลง อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังจับตาการขยายตัวของสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ยังเติบโตสูงอยู่ แต่โดยรวมแล้ว ไม่ถึงกับเป็นสัญญาณเขย่าเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินไทย"
ด้านนายประสาร ไตรรัตนวรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ไม่คิดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดระยะปานกลาง และระยะยาวอยู่ในขาขึ้น แต่อาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยพิเศษของธนาคารบ้างในบางช่วง เป็นระยะสั้นๆ ถือเป็นเรื่องปกติของระบบ
ตั้งแต่ปลายปี 2554 ถึงต้นปี 2555 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดนโยบายดอกเบี้ย 2 ครั้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบน้ำท่วม และรักษาความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน แต่ว่าขณะนี้ ตัวเลขหลายตัวของเศรษฐกิจไทยฟื้นจากผลของน้ำท่วมครบทุกด้าน แต่อาจมีบางจุดที่มีปัญหาอยู่
ดังนั้น เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศก็เริ่มกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อแผ่วลง โดยวิ่งหาค่ากลางของเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี ร้อยละ 0.5-3.0 โดยค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ทำให้ ธปท.ปรับประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานตลอดปีนี้มาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาใกล้ศูนย์
“สำหรับประเด็นที่ กนง.มีความเห็นต่างกัน 5 ต่อ 2 เสียง คือ เสียงข้างน้อยมองว่าควรทำนโยบายการเงินล่วงหน้า เพราะเศรษฐกิจโลกมีความขมุกขมัวเป็นสีเทา ขณะที่อีก 5 เสียง ให้คงดอกเบี้ย แม้จะมองว่าเศรษฐกิจโลกขมุกขมัวเช่นกัน แต่ก็เห็นว่าว่าพายุที่จะมาจะรุนแรงค่ไหนมองไม่ชัดเจน ดังนั้น ควรที่จะเก็บแรง และกำลังเอาไว้ก่อน”
นายประสาร กล่าวว่า จากที่ได้ร่วมประชุมผู้ว่าการธนาคารกลาง 11 ประเทศที่ญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ก่อน จากการได้คุยกับผู้นำธนาคารกลางอื่นๆ หลายประเทศ และผู้นำทางการเงิน เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีข้อสรุปคล้ายกัน 3 ประเด็น คือ ประการแรก ปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ปัญหามาจากปัจจัยพื้นฐาน
ดังนั้น คงมีความยืดเยื้อยาวนาน ต่างจากปัญหาที่เกิดในเชิงวัฎจักร ซึ่งแก้ปัญหาง่ายและใช้ระยะเวลาสั้น แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างจะมีความยืดเยื้อ และการจัดการกับปัญหาต้องแก้ไขผ่านปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจซึ่งใช้เวลานาน ประเทศเล็ก โดยเฉพาะไทย จะต้องหานโยบายป้องกัน และลดผลกระทบของปัญหาโดยจะต้องเลือกนโยบายให้มีความเหมาะสม และต้องระมัดระวังในการใช้นโยบาย และมองปัญหาในภาพรวมในระยะยาวด้วย
ประการถัดมา เห็นว่าต้องเสริมสร้างศักยภาพของความเข้มแข็งเศรษฐกิจในประเทศ ลดการพึ่งพาการส่งออก ซึ่งการเสริมสร้างศักยภาพของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป เช่น จีน ก่อนหน้านี้ เน้นการลงทุน แต่ขณะนี้ ปรับมาเป็นการบริโภคในประเทศแทน ในส่วนของไทยการบริโภคของไทยเริ่มดีขึ้น มีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรามภายในประเทศ (จีดีพี) ถือว่าไม่น้อย ดังนั้น ไทยต้องหันมาปรับโครงสร้างการลงทุนด้วยเพื่อให้การบริโภคเร่งตัวขึ้นในอนาคต
และประการที่สาม เสริมสร้างความแข็งแกร่งของประสิทธิภาพของระบบการเงิน ต้องติดตามให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ ขณะที่ ธปท.ไม่ได้มีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง แต่เคยเสนอให้กระทรวงการคลังเข้าไปดูแลขอบเขตในการทำงานและคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งทาง ธปท. มีความเป็นห่วง เพราะบางกรณีเกินขอบเขต วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง รวมทั้งเกินขอบเขตมาตรฐานการให้สินเชื่อ ซึ่งเราได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะดูแลกันได้เรียบร้อย