xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ก.ล.ต. ปลื้มหลายฝ่ายหนุน “เอกชน” ลงทุนในต่างประเทศ แนะตั้ง สนง.เฉพาะกิจดูแล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรพล โสคติยานุรักษ์
เลขาฯ ก.ล.ต. ปลื้มหลายฝ่ายหนุน “เอกชน” ลงทุนในต่างประเทศ ระบุ 160 บจ.ไทย ได้นำร่องไปแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ แนะตั้ง สนง.เพื่อดูแลโดยเฉพาะ แทนการใช้ทูตพาณิชย์ เล็งเปิดให้นำค่าใช้จ่ายที่ปรึกษากฎหมาย การเตรียมแผนบุกตลาด ค่าลงทุนในปีแรก ให้นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 1.5-2.0 เท่าของค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษีในประเทศ พร้อมกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ชัดเจน

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงานสัมมนา “นโยบายการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ; โอกาสหรือความเสี่ยง” โดยระบุว่า ปัจจุบันเอกชนไทยโดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนกว่า 160 ราย ได้ขยายการลงทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากพอ

ดังนั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพเอกชนไทยให้เพิ่มขึ้นในการบุกตลาดต่างประเทศ จึงควรมีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ให้เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูล มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในประเทศต่างๆ ที่มีศักยภาพน่าสนใจเข้าไปลงทุน และตั้งสำนักงานในประเทศดังกล่าว จากที่ปัจจุบันใช้ทูตพาณิชย์เป็นผู้ประสานงาน รวมทั้งควรให้ภาคเอกชนไทยที่มีแผนออกไปขยายการลงทุนในต่างประเทศ ควรนำค่าใช้จ่ายที่ปรึกษากฎหมาย การเตรียมแผนบุกตลาด ค่าลงทุนในปีแรก ให้นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 1.5-2.0 เท่าของค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษีในประเทศ

สำหรับการสนับสนุนด้านเงินทุน ด้วยการตั้งกองทุนร่วมลงทุน VC Fund หากนักลงทุนร่วมลงทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ควรได้รับสิทธิประโยชน์ภาษี ตลอดจนการให้นิคมอุตสาหกรรมของไทย ขยายไปตั้งนิคมฯ ในต่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือเอกชนไทย โดยมีมาตรการจูงใจ รวมถึงหากเอสเอ็มอีรวมกลุ่มกันขยายแผนลงทุนไปต่างประเทศจะได้รับสิทธิต่างๆ เพิ่มเติม เมื่อลดภาระจะทำให้เอกชนไทยที่มีความพร้อมออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน หากเอกชนไทยออกไปลงทุนในอาเซียน เช่น หากมีกำไร 100 ล้านบาท เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในต่างประเทศร้อยละ 20 เมื่อนำเงินกลับเข้ามาต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15-20 จากนั้นนำเงินไปฝากธนาคารต้องเสียภาษีจากผลตอบแทนดอกเบี้ยอีกร้อยละ 15 ทำให้ได้รับเงินเมื่อนำเข้าประเทศไม่ถึงครึ่งหนึ่ง จึงแนะกระทรวงคลังหาทางป้องกันการตั้งบริษัทชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีได้แล้ว

นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง สถาบันการเงินมีปัญหาหนี้เสียเพียงร้อยละ 2.5 ต่างจากปี 40 หนี้เอ็นพีแอลสูงถึงร้อยละ 40 จึงมองว่าเอกชนไทยมีความพร้อมในการออกไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว สำหรับในปีนี้ และปีหน้า หากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศจะไม่จำกัดวงเงิน รวมไปถึงกองทุนสถาบัน หากนำเงินออกไปลงทุนจะเปิดเสรีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ตลอดจนการประกันความเสี่ยงทั้งผู้ส่งออกและนำเข้า จะเปิดเสรีมากขึ้น เนื่องจาก ธปท.ต้องการสนับสนุนแนวทางเสรีเงินทุนไหลออกบ้าง หลังจากในช่วงที่ผ่านมา สนับสนุนเงินทุนไหลเข้าเสรี เพราะที่ผ่านมา ต้องการเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ จากฐานะทุนสำรองปัจจุบัน หากเอกชนนำเงินไปลงทุนจำนวนมาก คงไม่กระทบต่อเงินสำรองของ ธปท. แม้ยังมีโอกาสออกไปลงทุน แต่ยังมีความเสี่ยงต้องระวังด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความสมดุลของเงินทุนไหลเข้าออก เพราะเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก ยังทำให้ฐานะของประเทศยังเป็นลูกหนี้จากประเทศต่างๆ วงเงินประมาณ 36,315 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากนำเงินออกไป จะได้ปรับจากสถาบันลูกหนี้เป็นเจ้าหนี้ได้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น