“ประชาธิปัตย์” เปิดซีรีส์ตอนที่ 7 ถล่มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เอื้อนายทุน หนี้ท่วมชาวบ้าน อัดนโยบายลดภาษี นายทุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ ลอยแพเอสเอ็มอี ทำรัฐสูญรายได้ 1.5 แสนล้าน ชี้ก่อหนี้มหาศาลแซงหน้ายุครัฐบาล “นช.แม้ว”
นายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคประชาธิปัตย์ แถลงวิพากษ์ความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในซีรีส์ต่อเนื่อง “1 ปีของจริงไม่อิงละคร” ตอนที่ 7 ที่มีชื่อว่า “เอื้อนายทุน หนี้ท่วมชาวบ้าน” ว่า นโยบายการลดอัตราการจัดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 23% มาเป็น 20% ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1.5 แสนล้านบาทอย่างน้อยไปตลอดจนปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2557
นายสรรเสริญกล่าวว่า ที่สำคัญการที่รัฐบาลอ้างว่าเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขันด้วยนโยบายการลดภาษีก็ไม่เป็นความจริง เพราะการส่งเสริมการลงทุนและการแข่งขันยังมีช่องทางอื่นที่สามารถดำเนินการได้ เช่น มาตรการจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เอื้อให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศด้วยไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ค่าแรง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางภาษีอย่างเดียว
“ในทางกลับกัน นโยบายการปรับลดภาษีดังกล่าวได้กลายเป็นการช่วยเหลือนายทุนผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งที่มีจำนวนของผู้ประกอบการเพียง 4.6 พันราย หรือคิดเป็น 0.2% จากภาคธุรกิจในระบบ ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีมีถึง 2.8 ล้านรายคิดเป็น 9.4% มีการจ้างงานถึง 10.5 ล้านคน กลับไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ เพราะว่าตามกฎหมายแล้วหากในปีหนึ่งมีกำไรไม่ถึง 3 ล้านบาทก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีถึง 30% อยู่แล้ว”
ด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ใช้เพียง 6 เดือนในก่อหนี้จำนวนมหาศาล โดยมีตัวเลขชี้วัดเดือน ธ.ค. 2554 พบว่ามีหนี้สาธารณะ 4.297 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ถึง 40.78 % มาจนถึงเดือน มิ.ย. 2555 มีหนี้สาธารณะ 4.791 ล้านล้านบาท คิดเป็นหนี้สาธารณะต่อจีดีพีถึง 43.34% เป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 15 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540
นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า ขณะเดียวกันในปี 2556 รัฐบาลกำลังก่อหนี้ให้กับประเทศมากขึ้นด้วยทั้งในและนอกระบบงบประมาณ โดยในระบบงบประมาณ มีจำนวน 3 แสนล้านบาทจากการขาดดุลใน พ.ร.บ.งบประมาณรายร่ายประจำปีงบประมาณ ส่วนนอกระบบงบประมาณมีจำนวน 7.02 แสนล้านบาทแบ่งเป็น พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3 แสนล้านบาท หนี้สินจากการจำนำผลผลิตทางการเกษตร 4 แสนล้านบาท และการชดเชยกองทุนน้ำมัน 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลกำลังส่งผลให้หนี้ของครัวเรือนมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นด้วย เช่น ในปี 2554 มีจำนวน 1.03 แสนล้านบาท ปี 2555 มีจำนวน 1.1 แสนล้านบาท
“รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สร้างหนี้งบประมาณจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์จนกลายเป็นยิ่งลักษณ์ยิ่งกู้ ยิ่งกว่าสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีจำนวน 4 แสนล้านบาท”