สศช. ระบุ ครึ่งปีแรกมีแรงงานเสี่ยงถูกลอยแพกว่า 1.6 แสนคน สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในการเลิกจ้างแรงงาน ประกอบด้วย การผลิตยานยนต์ เครื่องจักรสำนักงาน อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไป โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก "บีโอไอ” ประเมินลงทุนปี 55 ยังสดใส คาด เม.ย.โรงงานกลับมาเดินเครื่องผลิตได้ 100% เต็ม สศค.คงจีดีพีทะยาน 5% จ่อประเมินอีกรอบภายใน มี.ค. นำน้ำมันพุ่งมาคำนวณผลลบ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงต่อการเลิกจ้าง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก เพราะโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงการปรับอัตราค่าจ้าง และนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพบว่าขณะนี้มีแรงงานถึง 45,000 คน ที่ถูกเลิกจ้าง จากสถานประกอบการ 122 แห่ง และอีก 284 แห่ง ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้ ส่งผลให้มีแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง เนื่องจากยังรอการกลับเข้าทำงานของโรงงานที่ถูกน้ำท่วมอีกถึง 164,552 คน และเมื่อรวมกับอัตราการจ้างงานที่มีการปรับขึ้นอีก 40 เปอร์เซ็นต์ ทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการทบทวนนโยบายการจ้างงาน และอาศัยเหตุการณ์น้ำท่วมประกาศปิดกิจการ หรือเลิกงานไปเลย
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในการเลิกจ้างแรงงาน ประกอบด้วย การผลิตยานยนต์ เครื่องจักรสำนักงาน อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไป โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น โดยผู้ประกอบการต้องใช้ต้นทุนเพิ่มเติม เพิ่มขึ้นต่อเดือนคิดเป็น 6-10 เปอร์เซ็นต์ ของอัตราค่าจ้างเดิม
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในการเสวนาเรื่อง ”ทิศทางการลงทุนของประเทศไทยในปี 2555 ภายหลังวิกฤตการณ์น้ำท่วม” จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ว่า ขณะนี้หลายโรงงานที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เริ่มกลับมาผลิตแล้ว 60% คาดว่าในเดือน มี.ค.จะกลับมาเดินเครื่องได้ถึง 80% และจะเดินเครื่องเต็มกำลัง 100% ได้ในเดือน เม.ย. ชี้ให้เห็นว่าทิศทางการลงทุนยังมีอย่างต่อเนื่อง และมากขึ้น
นายวิชญายุทธ บุญชิต นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ สศช.กล่าวว่า การลงทุนทางด้านการบริหารจัดการน้ำและป้องกันน้ำท่วม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นการลงทุนในปีนี้ ขณะนี้การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมสามารถกลับมาผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็ว เป็นแรงสนับสนุนในการลงทุนเพิ่มในการผลิตสินค้าเพื่อชดเชยการผลิตที่ลดลงในปีที่ผ่านมา
นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 4.5-5.5% หรือเฉลี่ย 5% โดยจะมีการประมาณการอีกครั้งในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งจะนำปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน รวมถึงพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องดูว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในระดับใด รวมถึงแผนและโครงการใช้เงินของรัฐบาล มาพิจารณาประกอบ