xs
xsm
sm
md
lg

สรุปภาวะลงทุนภาคเหนือปี 54 ตอนบนนิ่ง-ตอนล่างรุ่ง-ญี่ปุ่นครองแชมป์ต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - บีโอไอแถลงภาวะการลงทุนภาคเหนือ ปี 54 พบนักลงทุนเสนอโครงการเพิ่มแต่มูลค่าลด ส่วนโครงการผ่านการอนุมัติแยกสถิติรายภาค พบเหนือตอนบน การลงทุนหด แต่เหนือตอนล่างลงทุนเพิ่ม ด้านญี่ปุ่นยังครองแชมป์นักลงทุนต่างชาติ ผอ.ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 ชี้ ปี 55 แนวโน้มดีเหตุพื้นที่ปลอดภัยน้ำไม่ท่วม แต่แนะจับตาสารพัดปัจจัยเสี่ยง

วันนี้ (9 ม.ค.) ที่ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ นายสมมาตย์ ตั้งสกุล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 เป็นประธานในการแถลงข่าวสรุปภาวะการลงทุนในภาคเหนือ ปี 2554

โดยในปี 2554 มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดรวม 142 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ส่วนมูลค่าการลงทุนรวม 41,248.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25 สำหรับอุตสาหกรรมที่นักลงทุนให้ความสนใจยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 3 อันดับแรก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร กิจการบริการและสาธารณูปโภค และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามลำดับ และเป็นโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายส่งเสริม SMEs ไทย จำนวน 42 ราย

ด้านโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือ ปี 2554 นั้น มีโครงการได้รับการส่งเสริม 102 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 มูลค่าการลงทุน 34,884.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 ขณะที่อุตสาหกรรมที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 3 อันดับแรก ประกอบด้วย กิจการบริการและสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามลำดับ และเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายส่งเสริม SMEs ไทย จำนวน 14 ราย

ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีการลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 72 โครงการ หรือร้อยละ 71 ของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ขณะที่การลงทุนของนักลงทุนไทยในโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 54 ด้านที่การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ พบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีโครงการได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือมากที่สุด รวม 13 โครงการ

ขณะเดียวกัน เมื่อแยกสถิติโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนโดยแบ่งเป็นภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่างแล้ว พบว่าภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดมีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 66 โครงการ ลดลงร้อยละ 4 มูลค่าการลงทุนรวม 7,002.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 3 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 2.กิจการบริการและสาธารณูปโภค และ 3.อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร โดยเป็นการลงทุนของนักลงทุนไทยร้อยละ 35 ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติที่มีโครงการได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคมากที่สุด รวม 12 โครงการ ส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีโครงการได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด จำนวน 34 โครงการ

ส่วนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง มีจำนวน 36 โครงการ ลดลงร้อยละ 44 มูลค่าการลงทุนรวม 27,881.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 3 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.กิจการบริการและสาธารณูปโภค 2.อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร และ 3.อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก, อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิกและโลหะขั้นพื้นฐาน, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง และอุตสาหกรรมเบา ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากนักลงทุนไทยถึงร้อยละ 89 ขณะที่นักลงทุนต่างชาติจากสิงคโปร์ มีโครงการได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคมากที่สุด รวม 2 โครงการ และจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่มีโครงการได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด จังหวัดละ 8 โครงการ

นายสมมาตย์ กล่าวถึงทิศทางการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือในปี 2555 ว่า ความวิตกกังวลเรื่องการย้ายฐานการผลิตนั้น คาดว่า ยังไม่น่าเป็นห่วงนัก โดยอาจจะมีผู้ผลิตบางส่วนย้ายฐานการผลิตจากพื้นที่ภาคกลางขึ้นมายังภาคเหนืออีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และในกลุ่มของนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ซึ่งจากการพบปะพูดคุยทราบว่าจะเป็นไปในลักษณะของการคงฐานการผลิตในพื้นที่ภาคกลางเดิมไว้ และหันมาขยายพื้นที่การผลิตด้วยการปรับปรุงพื้นที่เดิมที่ยังมีเหลือในเขตโรงงานในภาคเหนือ

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปี 2555 ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 เห็นว่า ภาคเหนือน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มที่ดีได้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ที่จะได้รับประโยชน์จากการที่พื้นที่ภาคกลางได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยจำนวนมาก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนโลหะและพลาสติกที่น่าจะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งปัญหาด้านพลังงาน ปัญหาจากภัยธรรมชาติ การเมืองภายในประเทศ รวมทั้งปัญหาจากนอกประเทศอย่างภาวะเศรษฐกิจของยุโรป เป็นต้น
นายสมมาตย์ ตั้งสกุล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1
กำลังโหลดความคิดเห็น