xs
xsm
sm
md
lg

ส่งซิกเอกชนรัดเข็มขัด รับมือปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- เวทีสัมมนามองเศรษฐกิจปี 2555 ส.อ.ท. “โฆสิต”ส่งสัญญาณให้เอกชนรัดเข็มขัดเหตุปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกรุมเร้า แถมโจทย์เก่าแรงงานหายาก แพงขึ้น พื้นที่ลงทุนยังอึมครึม คาดศก.จะโตได้ครึ่งปีหลังลงทุนรัฐกลไกขับเคลื่อนหลัก เอกชนบ่นอุบความชัดเจนแผนจัดการน้ำจากรัฐยังไม่เห็น ลงทุนใหม่อย่าคาดหวัง

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยในงานเสวนา”ทิศทางกับการฟื้นฟู เศรษฐกิจไทยในปี 2555 “ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) วานนี้(19ธ.ค.) ว่า ภาวะเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ของไทยจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2555
โดยคาดว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยอย่างเก่งจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีนี้แต่ไตรมาสแรกมีโอกาสติดลบและจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังซึ่งมีโอกาส 4-5% หากมาตรการต่างๆที่รัฐดำเนินการได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพเพราะการลงทุนของภาครัฐจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“น้ำท่วมทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้นแต่รายได้หายไป ภาคเอกชนลำบากต้องรัดเข็มขัด ดังนั้นความพร้อมที่เอกชนจะขับเคลื่อนคงจะยากและกว่าจะเห็นเอกชนกลับมาเดินเครื่องทั้งหมดจากน้ำท่วมนิคมฯและเขตประกอบการคงเป็นไตรมาส 3 ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกเองปีหน้าก็ชะลอตัวจึงเปรียบเหมือนเรากำลังฝ่าอากาศที่แปรปรวน ท่านทั้งหลายกรุณารัดเข็มขัด อะไรที่ไม่จำเป็นก็ควรจะชะลอไว้การลงทุนก็อย่าทุ่มหมดตัว“นายโฆสิตกล่าว
นอกจาก 2 ปัจจัยหลักแล้วไทยเองยังต้องมองใน 4 วาระที่สำคัญประกอบด้วยคือ 1. ปี 2555 เป็นปีที่เศรษฐกิจต้องพึ่งรัฐบาลดังนั้นโครงการต่างๆจะต้องดูแลไม่ให้เกิดคอร์รัปชั่นทำอย่างไรให้ถึงประชาชนในการกระตุ้นเศรษฐฏิจสำคัญมากทำได้ดีเท่าไรโอกาสที่จะฝ่าความแปรปรวนก็จะนิ่มนวลมากขึ้น 2. อย่าลืมโจทย์เก่าคือแรงงานหายากและค่าแรงสูงขึ้นที่มีบทบาทสูงแม้ว่านักลงทุนจะไม่ย้ายฐานไปไหนแต่ก็จะต้องดูว่าจะขยายงานได้หรือไม่ซึ่งเอกชนจะต้องเสนอรัฐที่ควรเน้นสร้างพื้นฐานทางปัญญาไม่ใช่แค่พื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างเดียว 3. พื้นที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ซึ่งเห็นว่ามีหลายจังหวัดที่พร้อมในการรองรับเช่น นคราชสีมา ขอนแก่น ซึ่งส.อ.ท.ควรจะเป็นแกนนำเรื่องนี้เพราะจะต้องรีบ 4. มองการผลิตสินค้าให้เป็นซัพพลายเชนให้กับภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น
“ อัตราดอกเบี้ยปีหน้าฟันธงยากแต่ก็มีแนวโน้มจะขาลงแม้จะยากอยู่เพราะเงินเฟ้อจะยังสูงอยู่ อัตราแลกเปลี่ยนน่าจะแข็งค่าขึ้นเพราะมีเงินทุนไหลเข้ามานับแสนล้านบาทจากการเคลมประกันภัยน้ำท่วม ภาพรวมจึงยังผันผวนอยู่ซึ่งนโยบายการเงินการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจพิสูจน์แล้วไม่ใช่อย่างที่เชื่อดูสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างท่านทั้งหลายรับทราบไปก็แล้วกัน”นายโฆสิตกล่าว
นายชายน้อย เผื่อนโกสุม รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า เอกชนเชื่อว่าปี 2555 น้ำจะยังมากแต่แผนจัดการบริหารน้ำที่ชัดเจนจากภาครัฐยังไม่มีและยังกังวลว่าโครงการใหญ่ๆที่รัฐจะดำเนินการทั้งเขื่อน ขุดคลองจะผ่านองค์กรภาคเอกชนหรือเอ็นจีโอหรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน
การลงทุนใหม่เมื่อยังหวังไม่ได้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ควรมีมาตรการใหม่ๆออกมา
นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส.อ.ท.กล่าวว่า การย้ายฐานระยะสั้นคงทำไม่ได้แต่การลงทุนใหม่จากนี้ไปในไทยคงต้องมองเรื่องการกระจายความเสี่ยง ดังนั้นปี 2555 รัฐควรมองและสนใจวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)ให้มากขึ้นเพราะเป็นห่วงโซ่การผลิต เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนหากมีปัญหาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็กระทบ
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า พบว่าบริษัทฯที่ได้รับส่งเสริมฯบีโอไอมี 900 บริษัทหรือเกือบ 2,000 โครงการมูลค่าลงทุน 7 แสนล้านบาทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วมและยังไม่ได้รวมถึงผลกระทบทางอ้อมจึงทำให้บีโอไอได้ออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆในการลดภาระและวันที่ 29 ธ.ค.นี้จะประชุมบอร์ดบีโอไอเพื่อพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เพิ่มเติม
“อะไรที่เราทำได้ก็ทำแต่การจะไปโรดโชว์เพื่อดึงความเชื่อมั่นเพื่อบอกว่าน้ำปีหน้าไม่ท่วมอีกคงต้องอยู่ที่ภาครัฐ”นายโชคดีกล่าว
น.ส.ลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐเองก็มีการเตรียมกรอบในการบริหารจัดการน้ำแล้วทั้งระยะสั้นและยาว ซึ่งสศช.เป็นกรรมการอยู่ด้วยแต่คงไม่สามารถให้สัญญาได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมเลยแต่จะให้รับผลกระทบน้อยสุด

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เอกชนจะต้องรัดเข็มขัดแต่รัฐบาลต้องทำตรงกันข้ามเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างต่ำต้องขาดดุลเพิ่มสองแสนล้านบาท การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 8 แสนล้านบาทแต่การทำงบขาดดุลฯจำนวนมากจะต้องมีวิสัยทัศน์และโปร่งใส ดังนั้นน้ำท่วมถ้าจัดการดีๆ น่าจะแก้ได้แต่ปัจจัยเสี่ยงคือภายนอกกับการเมืองไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น