ธปท.ชี้ ศก.ไทย เริ่มฟื้นตัว หลังน้ำท่วมคลี่คลาย กำลังผลิตกลับมาได้กว่า 50% เตรียมทบทวนปรับเป้า "จีดีพี" ใหม่ 3 ก.พ.นี้ พร้อมห่วง 4 ปัจจัยที่เข้ามากดดันการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน การปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และโครงการจากนโยบายภาครัฐ แต่เชื่อยังอยู่ในกรอบ
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2554 ปรับดีขึ้นหลังจากปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย ปัญหาการขาดแคลนสินค้าและชิ้นส่วนการผลิตลดลงหลังจากน้ำลด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การผลิตภาคอุตสาหกรรมแม้จะหดตัวร้อยละ 25.8 แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 47.2 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เนื่องจากโรงงานที่ถูกน้ำท่วมสามารถกลับมาผลิตได้บางส่วนและโรงงานที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วมสามารถจัดหาวัตถุดิบมาทดแทนได้มากขึ้น ส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตปรับเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 52.3 จากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 40.5 สอดคล้องกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ที่เครื่องชี้ต่างๆ ชี้ว่าภาคเอกชนเริ่มกลับมาลงทุน สะท้อนจากทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบันที่ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 48.5 จาก 39 ในเดือนก่อนหน้า
ส่วนความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 56.9 จาก 54.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2554 สะท้อนความเชื่อมั่นยังคงดีอยู่ คาดว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ในไตรมาส 3 โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จะฟื้นตัวก่อนในช่วงไตรมาส 2 แต่การลงทุนใหม่ในระยะยาวยังคงต้องรอความชัดเจนของแผนบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.7 จากเดือนก่อน และแนวโน้มในระยะต่อไปคาดว่าการบริโภคเอกชนจะฟื้นตัวเป็นปกติได้ในช่วงปลายไตรมาส 1 มาจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ใหม่ รวมถึงความต้องการในกลุ่มยานยนต์ เพื่อทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ธปท.จะมีการทบทวนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้ใหม่ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 นี้ จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตร้อยละ 4.8
ส่วนภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาผลิตได้ โดยการส่งออกในปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 16.4 ส่วนการนำเข้าขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 24.7 โดยปีนี้มีการนำเข้าทองคำสูงถึง 16,500 ล้านบาท
นายเมธี กล่าวว่า ในปีนี้จะมีปัจจัยที่เข้ามากดดันการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน การปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และโครงการจากนโยบายภาครัฐ แต่ยังมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่เร่งตัวขึ้นมาก และยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค.2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.53 และเงินเฟ้อพื้นฐาน ร้อยละ 2.66