ครม.เห็นชอบแผนพัฒนา รฟท.ตามที่ ครม.เศรษฐกิจ ได้ผ่านความเห็นชอบ ส่วนโครงการจัดซื้อ รถเมล์เอ็นจีวีฉาว สั่งคมนาคมนำข้อเสนอ ป.ป.ช.ปรับทีโออาร์ "ซางเล้ง" ร้องจ๊ากเงื่อนไขคุมทุจริตหัวคิว 8 ข้อ หั่นกำไรพ่อค้าสัมปทานรัฐหดจู๋ ห่วงใยผู้รับเหมาไม่กล้าเข้าประมูล
มีรายงานข่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามที่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการรัฐมนตรี (ครม.เศรษฐกิจ) พร้อมมอบหมายกระทรวงคมนาคมจัดทำแผนรายละเอียดในการจัดทำงบประมาณพัฒนา รฟท.เพื่อนำเสนอไปให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาภายใน 7 วัน เพื่อให้ สศช.พิจารณาแผนดังกล่าว ก่อนเสนอกลับมาให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งภายใน 45 วัน
สำหรับสาระสำคัญของแผนการใช้จ่ายงบประมาณ รฟท.ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของ รฟท. จะมีการใช้จ่ายงบประมาณผูกพันตั้งแต่ปี 2553-2557 ประกอบด้วยงานพัฒนาโยธาหรือปรับปรุงราง ซึ่งจะมีการใช้จ่ายงบประมาณตั้งแต่ปี 2553-2557 ทั้งโครงการปรับปรุงทางระยะที่ 5 ระยะที่ 6 การปรับปรุงรางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และปรับปรุงสะพานรถไฟข้าม วงเงินรวม 51,522 ล้านบาท ส่วนที่ 2 ระบบอาณัติสัญญาณและระบบโทรคมนาคม โดยจะมีงานสำคัญ คือ การเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณมาเป็นไฟสี การติดตั้งโครงข่ายคมนาคม การติดตั้งเครื่องกั้นถนน โดยใช้งบประมาณรวม 5 ปี 19,014.2 ล้านบาท
ส่วนที่ 3 พัฒนางานหัวรถจักรและล้อเลื่อน ภายในระยะเวลา 5 ปีนี้ จะมีการทยอยจัดซื้อหัวรถจักร ประกอบด้วย รถจักรดีเซลไฟฟ้า 7 คัน ขนาดเพลา 20 ตัน รถจักรดีเซลไฟฟ้าขนาดเพลา 15 ตัน 7 คัน และรถจักรดีเซลไฟฟ้าเพิ่มอีก 13 คัน รถจักรดีเซลไฟฟ้าทดแทนหัวรถจักรยี่ห้อจีอี 50 คัน รถโดยสารรูปแบบอื่น ๆ 6 ขบวน รถโบกี้บรรทุกสินค้า 308 คัน รถดีเซลรางปรับอากาศ 20 ขบวน รถดีเซลรางธรรมดา 58 ขบวน และการซ่อมใหญ่เพื่อให้หัวรถจักรอยู่ในสภาพดีอีก 56 คัน รวมเป็นการใช้จ่ายงบประมาณจัดซื้อหัวรถจักรและขบวนรถทั้งสิ้น 26,781.8 ล้านบาท เท่ากับ รฟท.จะมีการใช้จ่ายงบประมาณตั้งแต่ปี 2553-2557 ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเงินทั้งสิ้น 97,318 ล้านบาท
นอกจากนี้ สำหรับโครงการก่อสร้างทางคู่ระยะเร่งด่วน ที่จะมีการใช้จ่ายงบประมาณผูกพันตั้งแต่ปี 2553-2559 เส้นทางสำคัญ 6 เส้นทาง อาทิ ทางคู่ฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย และแก่งคอย-บ้านภาชี ทางคู่เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ทางคู่สายมาบกะเบา-ถนนจิระ ทางคู่สายจิระ-ขอนแก่น ทางคู่เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ทางคู่ประจวบฯ-ชุมพร ซึ่งทั้ง 6 เส้นทาง จะมีการก่อสร้างทางคู่รวมระยะทาง 873 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 77,858.3 ล้านบาท
ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม ได้มอบหมายให้นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในโครงการประกวดราคาเช่ารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (รถเมล์เอ็นจีวี) เป็นเชื้อเพลิงขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มาปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดร่างทีโออาร์ ซึ่งอาจไม่มีเอกชนรายใดเข้าร่วมประมูล โดยคาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนเอกชนได้ภายในปีนี้
"ที่ผ่านมาได้ปรับปรุงแก้ไขอย่างรอบคอบ จนไม่รู้ว่าจะมีเอกชนรายใดสนใจเข้าร่วมประกวดราคาอีกหรือไม่"
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตามขั้นตอนการดำเนินโครงการดังกล่าวจะมีคณะกรรมการตรวจสอบอยู่แล้ว และยังประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-อ็อคชั่น) ซึ่งเป็นวิธีการประกวดราคาที่ยึดปฏิบัติโดยทั่วไป
ทั้งนี้ ป.ป.ช.ระบุว่าโครงการดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการทุจริต และอาจมีลักษณะของการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เพราะการดำเนินการยังขาดขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่า อีกทั้งไม่ปรากฏที่มาของราคาค่าเช่า ขณะที่ร่างทีโออาร์กำหนดให้เป็นรถที่ประกอบตัวถังในประเทศ 2,800 คัน แต่ข้อเท็จจริงคือผู้ผลิตมีความสามารถผลิตได้เพียงปีละ 250-300 คันเท่านั้น
สำหรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.มี 10 ประเด็น ได้แก่ 1.กระบวนการริเริ่มโครงการไม่ได้ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงควรศึกษาวิเคราะห์และประเมินโครงการอย่างละเอียดในทุกด้านก่อนเสนอ ครม., 2.ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโครงการไม่ได้รับการกลั่นกรองจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จึงควรต้องผ่านกระบวนการอนุมัติอย่างเข้มงวด,
3.ในส่วนของรายละเอียดร่างทีโออาร์ พบว่ามีการกำหนดลักษณะอุปกรณ์ที่ง่ายต่อการล็อคสเปค มีการตัดระบบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมออกไป ขณะที่ความเป็นไปได้ของการส่งมอบรถ 4 พันคันในเวลา 2 ปี อาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การแข่งขันลดลง ดังนั้นคณะกรรมการร่างทีโออาร์ และผู้มีอำนาจอนุมัติอาจสุ่มเสี่ยงต่อความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ,
4.คุณภาพของก๊าซธรรมชาติ พบว่าคุณภาพก๊าซในอ่าวไทยและพม่าต่ำกว่ามาตรฐาน สมควรต้องกำหนดเงื่อนไขและวิธีกำกับด้านสมรรถนะและระดับมลพิษไอเสียตลอดอายุโครงการ, 5.อู่จอดรถและสถานีเติมก๊าซ พบว่าไม่มีความชัดเจนยังไม่มีการศึกษา สมควรศึกษาต้นทุนสถานีเติมก๊าซให้ชัดเจน, 6.การประกวดราคาด้วยวิธีการอี-อ็อคชั่น ไม่เป็นประโยชน์กับโครงการที่สลับซับซ้อน อาจมีการคอรัปชั่นได้,
7.ส่วนเรื่องต้นทุนและรายได้ พบว่ารายรับไม่มีความสมดุลกับค่าใช้จ่าย ผู้คำนวณต้นทุนและรายได้ต้องรับผิดชอบในความถูกต้อง และรัฐต้องติดตามผลจากการประกอบการจริงเปรียบเทียบที่คำนวณได้เสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ, 8.โครงการเช่ารถเอ็นจีวี ควรสอดคล้องกับแผนแม่บทด้านการขนส่งของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2553 โครงการจึงยังไม่ควรเริ่มลงทุน,
9.ปัจจุบัน ขสมก.มีรถให้บริการเพียง 20% ส่วนที่เหลือเป็นรถเอกชน จึงควรทบทวนบทบาท ขสมก.ว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลหรือผู้ปฏิบัติ และ 10.รัฐบาลต้องตอบสังคมว่าสังคมจะได้ประโยชน์อย่างไร ความสะดวกเกิดขึ้นจริงหรือไม่ คำนึงถึงมลพิษเพียงใด สัดส่วนของโครงการเทียบกับภาคเอกชน สมควรมีมาตรการติดตามดูแลประเมินผลว่าดำเนินการอย่างสุจริตเข้มงวด จริงจังโปร่งใส ตั้งแต่เริ่มจนเสร็จสิ้นโครงการ