รมต.พลังงาน-ปตท.ชี้ ยกเลิก MOU พื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ปี 2544 ไม่กระทบความมั่นคงพลังงาน เนื่องจากบริษัทที่ได้รับสัมปทานเป็นเอกชนต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย คาดหากยกเลิกจริง แค่ทำให้การพัฒนาปิโตรเลียมต้องใช้เวลามากขึ้น ส่วนกรณี ปตท.สผ.ยังอีกไกล
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน ) เปิดเผยว่า การที่กระทรวงการต่างประเทศ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 นี้ พิจารณายกเลิกบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู ว่าด้วยพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทยกับกัมพุชา ที่ลงนามเมื่อปี 2544 ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับ ปตท. เนื่องจากบริษัทที่ได้รับสัมปทานฝั่งไทยและกัมพูชา เป็นบริษัทเอกชนต่างประเทศ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แต่หากมีการยกเลิกเอ็มโอยู ก็จะทำให้การพัฒนาปิโตรเลียมต้องใช้เวลามากขึ้น
ส่วนธุรกิจของ ปตท. ในประเทศกัมพูชา นั้น มีไม่มาก เป็นธุรกิจปั๊มน้ำมัน แ ละมีคลังน้ำมันขนาดเล็กอยู่ 3 แห่ง ซึ่งขณะนี้การดำเนินธุรกิจยังเป็นปกติ สามารถขนส่งน้ำมันผ่านตามด่านชายแดนได้ เพราะยังไม่มีการปิดด่าน แต่หากมีการปิดด่านชายแดน ก็ยอมรับว่าธุรกิจคงได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถขนส่งได้ ซึ่งหากรัฐบาลไทยมีนโยบายอย่างไร ทาง ปตท. ก็พร้อมดำเนินการ
ส่วนพนักงานที่ทำงานอยู่ในกัมพูชา ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนกัมพูชา มีคนไทยบ้างแต่เป็นจำนวนน้อย ซึ่งยังไม่ได้มีการเรียกพนักงานที่เป็นคนไทยกลับประเทศ
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หากมีการยกเลิกเอ็มโอยู ดังกล่าว เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เนื่องจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน 13 ประเทศ ประกอบกับ ปตท.สผ. ยังสามารถสำรวจปิโตรเลียมนอกพื้นที่ทับซ้อนได้ โดยในเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ยังไม่มีการให้สัมปทาน