เลขาฯ รมว.กต.โต้ “ทนายแม้ว” ยืนยันเอ็มโอยูพื้นที่ทับซ้อนไทย-เขมร เจรจามาหลายรัฐบาล แต่ไม่มีใครกล้าลงนามเพราะกลัวไทยเสียเปรียบ แต่ “ทักษิณ” ใช้เวลา 4 เดือนลงนามทันทีจนเกิดปัญหา พร้อมแจงรัฐบาล ปชป.ไม่เคยยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน เอ็มโอยูปี 43 ยอมรับแค่แผนที่ปักปันร่วมกัน แต่มีการเติมข้อความในยุค “แม้ว” ปี 46
วันนี้ (8 พ.ย.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขาณุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยคดีทุจริตที่อยู่ระหว่างหลบหนีที่อ้างว่าบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ได้มีการตกลงกันตั้งแต่ในช่วงรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ว่าการทำเอ็มโอยูนั้นไม่สามารถทำได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีการเจรจาเรื่องเอ็มโอยูทางทะเลกันมาตลอด แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากยังมีบางจุดที่กลัวว่าฝ่ายจะเสียเปรียบ การเจรจาผ่านมาหลายปี จึงยังไม่สามารถลงนามกันได้ แต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเพียง 4 เดือน ก็ลงนามในเอ็มโอยูที่ยังไม่มีใครกล้าทำ พ.ต.ท.ทักษิณใช้เวลาเพียง 4 เดือนในการพิจารณาเรื่องที่รัฐบาลอื่นใช้เวลาเป็นปี แลัวมีการลงนาม และเป็นปัญหามาจนทุกวันนี้
นายชวนนท์ชี้แจงอีกว่า กรณีที่อ้างว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ยอมรับแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชาในการปักปันเขตแดนนั้น ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามกับกัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 นั้น เราบอกชัดเจนว่า เราไม่ยอมรับแผนที่ฉบับนี้ ซึ่งเราไม่ยอมรับมาตั้งแต่เมื่อครั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไปสู้คดีประสาทพระวิหาร เพราะเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียว ในเอ็มโอยูดังกล่าว เราบอกแค่ว่า เรายอมรับแผนที่ที่มาจากการปักปันเขตแดนร่วมกันระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เราระบุแค่นั้น แต่ต่อมาในปี 2546 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณมีการแปลงเอ็มโอยูดังกล่าว โดยเติมข้อความในวงเล็บเข้าไปว่า หมายถึง แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งถือเป็นคนละฉบับกันและเราไม่ยอมรับ แต่กลับมีการผนวกเข้าไปกับแผนที่ที่เราปักปันร่วมกัน
นายชวนนท์ย้ำว่า การดำเนินการของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งเรื่องการลงนามเอ็มโอยูพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.44 และการเติมข้อความในเอ็มโอยูในปี 2546 ทำให้เรามีปัญหามาจนทุกวันนี้
อนึ่ง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เตรียมจะเลิกเอ็มโอยูเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาที่ทำไว้ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ หลังจากที่รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน