xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนพัฒนาตลาดทุนไทยปี 53-57 “กรณ์-ภัทรียา” เปิดเวทีแจง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรณ์” แจงแผนพัฒนาตลาดทุนไทย 53-57 วางโครงสร้าง 8 มาตรการหลัก ก่อนแปรรูปตลาดหุ้นเป็นมหาชนในปี 54 “ภัทรียา” ยันเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเสรี ทุกฝ่ายต้องปรับตัวเองให้เป็นองค์กรทางธุรกิจ เพื่อรองรับการแข่งขัน และตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนและสถาบันตัวกลาง

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการแถลงข่าวเรื่องแผนพัฒนาตลาดทุนไทย (ปี 2553-2557) ประกอบด้วย 8 มาตรการหลัก เน้นผลักดันการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นองค์กรมหาชนในปี 2554 เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

พร้อมกันนี้ ยังได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าตลาดตราสารทุน ยอดคงค้างตราสารหนี้ มูลค่ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อจีดีพีเป็น 130% ในปีสุดท้ายของแผน จากปัจจุบันอยู่ในระดับ 86% ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจประเทศในปี 2553-2557 ขยายตัวปีละ 4-5% ขณะที่ตั้งเป้าจำนวนผู้มีบัญชีซื้อขายหุ้นทุนและจำนวนผู้มีบัญชีหน่วยลงทุนในกองทุนรวมต่อจำนวนประชากรเพิ่มเป็น 5% ในปี 2557 จาก 2.4% ในปี 2551

“ความผันผวนของตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์จะต้องเข้าไปดูแล แต่มองว่า กฎกติกาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพียงพอที่จะไม่ทำให้การซื้อขายใตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวน มีมาตรการรองรับเพียงพอแล้ว อย่างเซอร์กิตเบรกเกอร์ ก็ช่วยทำให้ไม่เกิดตัวเหวี่ยงของดัชนีมากเหมือนแต่ก่อน”

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดว่า จะสามารถปรับโครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์ และการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ เป็นองค์การมหาชนได้ในปี 2554 เนื่องจากมาตรการแรกของแผนพัฒนาตลาดทุนไทยในการยกเลิกการผูกขาด และการยกระดับคตวามสามารถการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้มาตรการนี้ เป็นเพราะมีการเปิดเสรีและมีการเคลื่อนย้ายเงินระหว่างประเทศ และมีธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ในรูปแบบใหม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ไทย

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ไทย จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของทั้งผู้ลงทุนและบริษัทจดทะเบียนและสถาบันที่เป็นตัวกลางต่างๆ โดยจะมีการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นมหาชนจำกัด คาดว่าจะมีความพร้อมภายในปี 2554

“แนวโน้มที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยจะถูกลดความสำคัญ ดังนั้น จะต้องมีการปรับโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ในเชิงธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงุนและสถาบันตัวกลาง เราจะปรับตัวเองให้เป็นองค์กรทางธุรกิจ และพร้อมเป็นบริษัทมหาชนในปี 2554”

การปฏิรูป ตลท.จะมีการแยกงานด้านธุรกิจตลาดหลักทรัพย์และงานด้านการพัฒนาตลาดทุนออกจากกัน และจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund: CMDF) ขึ้นเป็นหน่วยงานที่เข้ามาดูแลด้านการพัฒนาตลาดทุนในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน โดยยกเลิกการผูกขาดการประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์ เปิดสิทธิการซื้อขายให้แก่ผู้ร่วมตลาดที่ไม่ใช่สมาชิก (open access) และเปิดโอกาสให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดได้ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องและเป็นการขยายฐานการลงทุนให้มีความเชื่อมโยงกับตลาดโลก เพื่อลดข้อจำกัดต่อการเติบโตของตลาดทุนไทยในอนาคต

มาตรการที่ 2 คือ การเปิดเสรีและการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลางให้สอดคล้องกับกระแสการเปิดเสรีระบบการเงิน และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ตลาดทุนไทยสามารถรองรับการเคลื่อนย้ายของเงินทุนที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงกำหนดให้มีการเปิดเสรีใบอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (commission) เพื่อลดข้อจำกัดด้านจำนวนใบอนุญาตให้หมดไป

มาตรการที่ 3 การปฏิรูปกฎหมายสำหรับการพัฒนาตลาดทุน ปัจจุบันมีกฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนการเสนอร่างสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ.2540, ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ควรได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล

คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย เห็นสมควรให้มีการปฏิรูปกฎหมายเพิ่มเติม ได้แก่ การเสนอกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการควบรวมกิจการเพื่อขจัดข้อจำกัด, การกำหนดมาตรการบังคับทางกฎหมายที่เป็นทางเลือกอื่น นอกจากทางอาญา เช่น มาตรการลงโทษทางแพ่ง และมาตรการบังคับทางปกครอง เพื่อให้การบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ ผลักดันร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action)

มาตรการที่ 4 การปรับระบบภาษีสำหรับการพัฒนาตลาดทุน เพื่อขจัดอุปสรรคทางภาษีต่อการทำธุรกรรมในตลาดทุนไทย ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้มีความเป็นกลาง รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกรรมที่รัฐต้องการให้ความสนับสนุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทย

แนวทางการปรับปรุงกฎหมายภาษีจะครอบคลุมเรื่องต่างๆ ได้แก่ การปรับโครงสร้างและการควบรวมกิจการ การลงทุนในตราสารหนี้ การขจัดปัญหาภาระภาษีซ้ำซ้อนกรณีเงินปันผลที่บริษัทจำกัดได้รับจากบริษัทอื่น การให้สิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมระหว่างการลงทุนตรงและลงทุนผ่านตัวกลาง การโอนย้ายเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ การลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิต ตราสารการเงินเพื่อระดมทุนตามหลักศาสนาอิสลาม การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และธุรกิจเงินร่วมลงทุน

มาตรการที่ 5 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ให้มีแนวทางผลักดันให้เกิดกลุ่มสินค้าทางการเงินใหม่ๆ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund) การส่งเสริมการออกกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ การเปิดให้ซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย หรือพันธบัตรรัฐบาลเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ลงทุน การระดมทุนที่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม การส่งเสริมธุรกิจเงินร่วมลงทุน และการนำหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่กระจายใน ตลท.เพิ่มขึ้น

มาตรการที่ 6 การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจะเป็นแหล่งเงินออม และเงินทุนที่สำคัญภายในประเทศอันจะส่งผลต่อเนื่องสำหรับการพัฒนาตลาดทุนไทยในภาพรวม ช่วยลดความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ รวมทั้งยังส่งผลทางอ้อมต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ตามความต้องการเงินทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย

มาตรการที่ 7 การสร้างวัฒนธรรมการลงทุนผ่านการออมระยะยาวให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีโอกาสเลือกแผนการลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง และเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวที่จะแสวงหาความรู้ความเข้าใจในสินค้าตลาดทุน จึงจำเป็นต้องผลักดันในเรื่องของ employee’s choice ให้เกิดขึ้น โดยให้สามารถครอบคลุมทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่จะต้องมีนโยบายการลงทุนมากกว่า 1 แบบ

สุดท้าย มาตรการที่ 8 การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิธีการบริหารเงินสดของรัฐบาล รวมถึงการศึกษาแนวทางและยกร่างการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับเงินคงคลังเพื่อให้รัฐบาลสามารถออกตั๋วเงินคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำเงินคงคลังมาบริหารให้มีผลตอบแทนได้ และธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นแกนนำในการส่งเสริมการทำธุรกรรม private repo และ SBL (Securities Borrowing and Lending) ที่จะช่วยให้ตลาดตราสารหนี้มีเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพและมีความเสี่ยงต่ำ ส่งผลต่อการเพิ่มสภาพคล่องโดยรวมของตลาดให้สูงขึ้นอีกด้วย

นอกจากมาตรการเพื่อการปฏิรูปตลาดทุนไทยที่จะมีผลกว้างไกลต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ 8 มาตรการที่กล่าวมาข้างต้น ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยยังบรรจุมาตรการเสริมอีกกว่า 30 มาตรการที่ควรจะต้องดำเนินการ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการปรับสภาวะแวดล้อมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของตลาดทุนไทยในระยะยาว อันจะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของแผนพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น