xs
xsm
sm
md
lg

บล.มีสิทธิรอด! ตลท.ไฟเขียวค่าคอมฯใหม่แบบขั้นบันได

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ รับหลักการปรับปรุงอัตราค่าคอมมิชชันแบบขั้นบันไดใหม่ ตามข้อเสนอของสมาคมโบรกเกอร์ที่พยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย ก่อนจะเจอวิกฤตรายได้ทรุดในปีหน้า หากใช้คอมมิชชันตามแผนเดิม คาดเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ปี 53 หลังส่งให้สำนักงานก.ล.ต. พิจารณาเร็วๆ นี้ พร้อมลดการเก็บเงินสำรองจากมาร์เกตติ้งเหลือ 25% จากเดิม 35% พร้อมนัดประชุมสมาชิกโบรกเกอร์ในวันที่ 26 ต.ค.นี้

นายนิพัทธ พุกกะณะสุต กรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ตลาดหลักทรัพย์ฯ วานนี้ (20 ต.ค.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการปรับปรุงอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) แบบขั้นบันได ที่จะประกาศใช้ต้นปี 2553 ตามที่ทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เสนอมา โดยขั้นตอนหลังจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาต่อไป

สำหรับข้อเสนออัตราการจัดเก็บค่าคอมมิชชันของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ที่เสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท คิดค่าคอมมิชชันในอัตรา 0.25% มูลค่าการซื้อขาย 5-10 ล้านบาท คิดอัตรา 0.22% และมูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ 10-20 ล้านบาท คิดในอัตรา 0.18%

ขณะที่ข้อกำหนดเดิม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดให้มูลค่าซื้อขายต่ำกว่า 1 ล้านบาท คิดค่าคอมมิชชันในอัตรา 0.25% มูลค่าซื้อขายตั้งแต่ 1-10 ล้านบาท คิดอัตรา 0.22% มูลค่าซื้อขาย 10-20 ล้านบาท คิดอัตราไม่น้อยกว่า 0.18% ส่วนมูลค่าการซื้อขายต่อวันเกินกว่า 20 ล้านบาท ให้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างโบรกเกอร์กับลูกค้า

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้เห็นชอบให้ปรับลดการหักเงินสำรองจากค่าคอมมิชชัน เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงป้องกันไม่ให้พนักงานการตลาด (มาร์เกตติ้ง) กระทำผิดหลักเกณฑ์ โดยหลักเกณฑ์เดิมกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องหักเงินสำรองจากค่าคอมมิชชันที่มาร์เกตติ้งรับไว้นาน 6 เดือน ในอัตรา 35% ลดเหลือ 25% ของค่าธรรมเนียม

ด้านแหล่งข่าวจากกรรมการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นัดประชุมร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ในวันที่ 26 ตุลามคมนี้ เพื่อมติเกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์การคำนวณค่าคอมมิชชันใหม่ให้โบรกเกอร์ได้รับทราบ หลังจากนั้นจะส่งให้สำนักงานก.ล.ต. เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.พิจารณาในเดือนพฤศจิกายนนี้

ก่อนหน้านี้ นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่เสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องปรับค่าคอมมิชชันแบบขั้นบันไดใหม่ ว่า การเก็บค่าคอมมิชชันแบบเดิมจะทำให้รายได้ของบริษัทหลักทรัพย์ลดลงประมาณ 20% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากค่าคอมมิชชันถือเป็นรายได้หลักของโบรกเกอร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์

จากปัจจัยข้างต้น ทำให้ในปี 53 บริษัทหลักทรัพย์จะต้องปรับกลยุทธ์และหารายได้อื่นๆ เข้ามาทดแทนรายได้ค่าคอมมิชชันที่หายไป อาทิ รายได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (พอร์ตลงทุน) การหารายได้จากตลาดอนุพันธ์ การขยายฐานนักลงทุน การหาธุรกรรมใหม่ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่การตลาด จะต้องมีการปรับตัวในเรื่องการให้บริการที่มีคุณภาพที่ดีให้กับนักลงทุนเพื่อให้นักลงทุนยังคงมีการซื้อขายกับเจ้าหน้าที่การตลาดต่อไป

ขณะที่หลายๆ ฝ่ายได้ให้ความเห็นว่า หากตลาดหลักทรัพย์ฯ ยืนยันที่จะใช้ค่าคอมมิชชันแบบขั้นบันไดในอัตราเดิมนั้น จะส่งผลให้รายได้ของโบรกเกอร์หดหาย เพราะลูกค้ารายใหญ่จะย้ายพอร์ตลงทุนไปซื้อขายกับโบรกเกอร์เพียงรายเดียว เพื่อมีสิทธิในการต่อรองค่าคอมมิชชัน จนทำให้บริษัทหลักทรัพย์รายเล็กไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และจะมีบริษัทหลักทรัพย์มีการควบรวมกิจการ เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานและการแข่งขันมากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2553 เป็นต้นไป

ฝรั่งซื้อ1.3พันล.หนุนหุ้นบวก6จุด
ด้านความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นล่าสุด วานนี้ (20 ต.ค.) ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างผันผวน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้า และปรับตัวแตะระดับสูงสุดที่ 739.00 จุด ก่อนจะเริ่มปรับตัวลดลงในการซื้อขายภาคบ่าย มีจุดต่ำสุดที่ 723.58 จุด และปิดการซื้อขายที่ 725.60 จุด ลดลงจากวันก่อน 6.01 จุด หรือคิดเป็น 0.82% มูลค่าการซื้อขายรวม 29,198.45 ล้านบาท

โดยนักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิสูงถึง 1,321.51 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 442.67 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,764.18 ล้านบาท

สำหรับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ราคาปิดที่ 159.50 บาท ลดลงจากวันก่อน 3 บาท คิดเป็น 1.85% มูลค่าการซื้อขาย 3,086.59 ล้านบาท บมจ.ปตท. (PTT) ราคาปิด 261 บาท ลดลง 4 บาท หรือ 1.51% มูลค่าการซื้อขาย 1,733.29 ล้านบาท และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ราคาปิด 3.68 บาท เพิ่มขึ้น 0.06 บาท หรือ 1.66% มูลค่าการซื้อขาย 1,610.20 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น