สภาพัฒน์ เปิดแถลงตัวเลข “จีดีพี” ไตรมาส 2 ปี 52 ติดลบ 4.9% ฟื้นจากไตรมาส 1 ปี 52 ที่ติดลบ 7.1% ถือว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว คาดปลายปีนี้ พลิกเป็นบวกได้แน่ เผยตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่น และมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมไปถึงรายได้ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งผลตอบแทนของการออมที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ ปธ.หอการค้า เชื่อมั่น “จีดีพี” เริ่มดีขึ้นได้ต่อเนื่อง มั่นใจ ศก.ไทยปลายปีนี้ ฟื้นได้แน่
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2552 ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ติดลบ 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชะลอการหดตัวลงจากไตรมาส 1 ปี 2552 ที่ติดลบ 7.1% โดยหากเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสจะพบว่าจีดีพีขยายตัว 2.3% ส่วนจีดีพีครึ่งปีแรก ติดลบ 6.0%
ทั้งนี้ สศช.คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าในไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยจะยังคงติดลบ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงจำกัด และมีผลกระทบต่อการส่งออก ประกอบกับฐานการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 ปี 2551 อยู่ในระดับสูง อีกทั้งการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงล่าช้า ส่งผลให้จีดีพีในไตรมาส 3 ปี 2552 จะยังคงติดลบ แต่เชื่อมีโอกาสที่ไตรมาส 4 ปี 2552 จีดีพีจะกลับมาเป็นบวกได้
เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังระบุว่า เศรษฐกิจไทยผ่านช่วงถดถอยที่สุดไปแล้ว และเริ่มเห็นสัญญาการปรับตัวที่ดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 สัญญาณบวกเกิดจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเร่งตัวขึ้น การผลิตเริ่มปรับตัวในทางที่ดี การนำเข้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ จากการติดตามดูอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่พิจารณาการเปลี่ยนแปลงรายไตรมาสต่อไตรมาส โดยหักลบปัจจัยทางฤดูกาลออกแล้ว มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเป็นบวกต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 โดยที่จีดีพี ณ ราคาคงที่ปรับฤดูกาลแล้วอยู่ในระดับต่ำสุดในช่วงไตรมาสแรก
นายอำพน กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นและมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมไปถึงรายได้ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งผลตอบแทนของการออมที่มีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งการเร่งรัดการใช้จ่ายในช่วงที่เหลือจากปีงบประมาณ 2552 ในงบประมาณปี 2553 ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขด้านกระแสเงินสดที่เริ่มมีการปรับตัวในทิศทางที่คล่องตัวมากขึ้น การดำเนินมาตรการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ การดำเนินโครงการการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และการขยายสินเชื่อให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อและการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง รวมทั้งการพยุงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การรายงานตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 2 ของไทยในวันนี้ เชื่อว่า จะติดลบเพียง 4-5% ซึ่งถ้าเทียบกับตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 1 ที่ติดลบสูงถึง 7.1% แล้วถือว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวขึ้น ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้
ทั้งนี้ ปัจจัยมาจากการที่ธนาคารโลก ประเมินว่า จีดีพีของกลุ่มประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเริ่มดีขึ้นทำให้การส่งออกของไทยจะมีมากขึ้น
ประธานกรรมการหอการค้าไทยยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลต้องพยายามลดปัญหาการทุจริตในโครงการต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจในการลงทุนร่วมกับภาครัฐ