xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ฟื้นแล้ว?...จะลงทุนยังไง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความหวังของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่หลายฝ่ายเริ่มบอกกันว่าวิกฤตเข้าใกล้จุดตํ่าสุดของการถดถอยแล้ว แต่แนวโน้มจะเป็นอย่างไรและความเสี่ยงของการที่จะเข้าไปลงทุนนั้นยังมีอยู่ที่ใดบ้างนั้น ไมค์ เทอร์เนอร์ หัวหน้าฝ่ายวางแผนและจัดสรรการลงทุนโลก อเบอร์ดีน กรุ๊ป ระบุถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนว่า

จากรายงานภาวะเศรษฐกิจโลกขององค์กรความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ได้ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ใกล้จะถึงจุดต่ำสุดของภาวะถดถอยที่หนักที่สุดหลังสงครามโลกแล้ว แม้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศมีทีท่าว่าเศรษฐกิจจะยังคงถดถอยลงต่อไปก็ตาม โดยมีหลักฐานที่แสดงถึงการคงที่ของภาวะถดถอย แต่การฟื้นตัวดูเหมือนจะอยู่ในช่วงเปราะบางการไม่ทรุดลงอีกของตลาดการเงินเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการฟื้นฟูความเชื่อมั่น อันส่งผลดีต่องบดุลของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่อุปสรรคยังคงอยู่ที่การว่างงาน และกำลังการผลิตที่ยังเกินกว่าความต้องการ

โดยในส่วนของสหรัฐอเมริกานั้นภาคการผลิตของสหรัฐมีสัญญาณว่าปรับตัวขึ้น โดยผลสำรวจของสถาบันการจัดการอุปทาน (ISM) ปรับตัวขึ้นใกล้ถึง 50 จุดซึ่งเป็นระดับที่ชี้ว่ามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนดัชนีอื่นๆปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และหากมีการปรับขึ้นต่อไปอีกก็บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มขยายตัวในปีหน้า แม้แต่อัตราการว่างงานที่ดูเหมือนว่าจะน้อยลง แต่การจ้างงานยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และระดับความเชื่อมั่นยังแสดงถึงความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ยุโรป รวมสหราชอาณาจักร ดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (เทียบเท่ากับดัชนี ISM) ปรับขึ้นในเดือนมิถุนายน แสดงถึงการลดลงที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2551 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีข้อมูลที่ไม่เป็นทางการว่ากิจกรรมการก่อสร้างบ้านกำลังมีสัญญาณการฟื้นตัว โดยราคาบ้านปรับขึ้นพอประมาณ แต่ยังมีข้อมูลที่ตีพิมพ์ที่สร้างความสงสัยเกี่ยวกับความแน่นอนของการฟื้นตัวถ้าเกิดขึ้นจริง ยกตัวอย่างที่ตรงประเด็น เช่น มีการปรับลดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ประจำไตรมาสแรกของปี 2552 ลงจาก -1.9% มาอยู่ที่ -2.4%

รวมไปถึงในเขตเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งผลสำรวจของสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์ของเยอรมนี (IFO) และดัชนีราคาผู้จัดการจัดซื้อทั่วยุโรป รายงานว่ามีการปรับขึ้นเช่นกัน แม้จะไม่ได้เป็นข่าวมากนัก อัตราการว่างงานยังคงเป็นข้อกังวลใหญ่ทั่วยุโรป โดย เฉพาะในสเปนและไอร์แลนด์ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นการลดลงของยอดขายปลีก ซึ่งในเดือนพฤษภาคมมีอัตราการเติบโต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อ่อนลงเท่ากับของเดือนมีนาคม ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจยุโรปยังคงขึ้นอยู่อย่างมากกับระดับการฟื้นตัวของภาคต่างประเทศมากกว่าอุปสงค์ภายในประเทศ

ส่วนญี่ปุ่นนั้น การเติบโตของอุปสงค์ของผู้บริโภคชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการส่งออกเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราการสั่งซื้อต่อการขายที่สูงเกินปกติลดลงได้ ทำให้การลงทุนไม่มีทีท่าว่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ผลกำไรของภาคธุรกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง

ทางด้านเอเชีย ธนาคารโลกได้ปรับขึ้นประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเป็น 7.9%ในปี 2552 ซึ่งเป็นผลจากการทุ่มงบประมาณเพื่อการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะมาแทนที่การลงทุนโดยตรงของเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากประเทศไปมาก ส่วนประเทศอื่นๆในเอเชียน่าจะเห็นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสสอง เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่ง แต่ยังคงไม่แน่ใจว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียจะเป็นเครื่องยืนยันถึงการเลิกผูกติดทางเศรษฐกิจกับประเทศที่พัฒนาแล้วของเอเชีย

ในเรื่องของการลงทุนนั้น ไมค์ เทอร์เนอร์ ระบุไว้ดังนี้
ตราสารหนี้ เงินท้องถิ่น และนโยบายการเงิน
ธนาคารกลางสหรัฐฯจะไม่มีการขยายการอัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบในเดือนมิถุนายน แต่ชี้แจงในแถลงการณ์ว่ามีความตั้งใจที่จะ คงการประเมินช่วงเวลาและมูลค่าการซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด การลดลงของอัตราผลตอบ แทนเฉลี่ยของพันธบัตรสหรัฐฯเมื่อเร็วๆนี้ดูเหมือนจะลดความเป็นไปได้ของแผนการขยายการอัดฉีดเม็ดเงินใหม่ แต่หากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะ 10 ปี ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินกว่า 4% ก็จะเป็นปัจจัยคุกคามสัญญาณการฟื้นตัวที่เริ่มเกิดขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐในขณะนี้อยู่ในกรอบ 0-0.25% ซึ่งดูเหมือนจะยังคงอยู่ต่อไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2553

ในเขตเศรษฐกิจยุโรป ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปเปลี่ยนนโยบายที่จะลดอัตราดอกเบี้ยมาเป็นนโยบายที่มีความคล้ายกับการอัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบ โดยธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปได้ปล่อยกู้ให้บรรดาธนาคารต่างๆ ในวงเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 4.42 แสนล้านยูโร (6.21 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) เป็นเวลา 12 เดือน และหวังว่าธนาคารจะนำไปปล่อยกู้ต่อให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แม้จะไม่ใช่การรอัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบตรงๆ แต่ก็มีลักษณะคล้ายกันตรงที่มีระยะเวลาใช้คืนเงินกู้ที่นานมาก อย่างไรก็ตามปริมาณเม็ดเงินใหม่ที่เข้าสู่ระบบในเขตเศรษฐกิจยุโรปจะเป็นทุนที่มหาศาลแต่อยู่ในระยะเวลาชั่วคราว อีกทั้งในเดือนนี้ภาครัฐจะต้องเริ่มซื้อหุ้นกู้ที่มีสินทรัพย์ลูกหนี้สินเชื่อชั้นดีเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโร เพื่อช่วยให้ธนาคารปล่อยกู้ได้มากขึ้น

อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรสหรัฐฯดูเหมือนจะปรับลดลงสวนทางกับแนวโน้มที่คาดว่าจะสูงขึ้น ซึ่งสร้างความกังวลขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ และส่งผลกระทบในวงจำกัดต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นกู้ที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน ส่งผลให้จำนวนผู้ขอสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น

หุ้นกู้
ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่หุ้นกู้มีมากกว่าพันธบัตรยังคงลดลงในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยภาคธุรกิจโดยทั่วไปมีสัญญาณของความมีเสถียรภาพ แต่บ่อยครั้งภาคธุรกิจรายงานถึงอุปสรรคสำคัญที่ยังมีอยู่ในภาวะการประกอบการ อเบอร์ดีนเห็นด้วยว่าความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงมีอยู่ แต่ตลาดหุ้นกู้ประเมินโอกาสที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ไปในแง่ที่ดีมาก โดยเฉพาะหุ้นกู้จากภาคอุตสาหกรรม ขณะนี้ยังคงเห็นการปรับโครงสร้างหนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสัญญาณอ่อนๆของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จึงเลือกที่จะลดการลงทุนที่มีความเสี่ยงของกองทุนของเรา เท่าที่เหมาะสม

ตราสารหนี้กลุ่มตลาดเกิดใหม่
พันธบัตรจากกลุ่มตลาดเกิดใหม่ได้รับประโยชน์สูงเมื่อนักลงทุนกลับมารับความเสี่ยงได้มากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
การปรับขึ้นของตราสารหนี้กลุ่มตลาดเกิดใหม่มาจากหลายสาเหตุประกอบกัน ซึ่งนำไปสู่การปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศบราซิลเมื่อไม่นานมานี้ ดัชนีราคาพันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ออกในสกุลเงินหลักของโลก ที่จัดทำโดยเจพี มอร์แกน แสดงถึงส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยในกลุ่มนี้ที่มากกว่าของพันธบัตรสหรัฐฯได้ปรับลดลงไป 3% นับจากเดือนมีนาคมเป็นต้นมา แต่การปรับขึ้นของราคาดูเหมือนจะไม่เกิดขึ้นได้นาน หากการรับความเสี่ยงของนักลงทุนส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง

อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ในกรณีของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นมีลักษณะเดียวกัน โดยการปรับขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงสัมพันธ์กับระดับการรับความเสี่ยงได้ของนักลงทุนส่วนใหญ่ จึงคาดการณ์ว่าจะมีสกุลเงินของประเทศที่ให้ดอกผลสูง เช่น เหรียญออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จะอ่อนค่าลงบ้างโดยสกุลเงินของประเทศที่ให้ดอกผลต่ำเช่น เงินเยน จะแข็งค่าขึ้น ส่วนเงินเหรียญสหรัฐฯจะได้ปัจจัยหนุนมูลค่าจากการที่นักลงทุนหันมาถือเงินที่มีเสถียรภาพด้านมูลค่าอย่างต่อเนื่อง และเป็นเหตุผลที่จะเห็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินปอนด์และยูโร ด้านเงินปอนด์อ่อนค่าลงมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ตั้งเป้าไว้เล็กน้อยที่ 1.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปอนด์

ตราสารทุน
ความหวังที่จะได้เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อไตรมาสมากที่สุดในรอบกว่า 20 ปีในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งความหวังนี้ยังช่วยยกระดับดัชนีตลาดหุ้นบางแห่ง เช่น เอส แอนด์ พี 500 ให้กลับมาอยู่ในโซนกลางที่ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป โดยจะขออธิบายว่า หากเราตั้งสมมุติฐานว่าแนวโน้มรายได้ของบริษัทจะเติบโตถึง 7.5% ในห้าปีต่อไป ในอนาคตอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรของตลาดที่มีดัชนีอยู่ในระดับ 950 ก็จะใกล้เคียง 15 เท่า เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วนราคาต่อกำไรย้อนหลังระยะยาวของตลาดหุ้นซึ่งอยู่ที่ประมาณ 16 เท่า ก็ยังสูงกว่าอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่ำสุดที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคมซึ่งอยู่ที่ประมาณ 12 เท่าอยู่มาก จึงเป็นไปได้ว่าหุ้นโดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐฯจะได้รับผลกระทบน้อยจากการเปลี่ยนแปลงระดับมูลค่าในช่วงสองถึงสามไตรมาสต่อจากนี้ แต่จะได้รับผลกระทบจากตัวเลขกำไรของบริษัทที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า ดังนั้นวาระการรายงานผลประกอบการของภาคธุรกิจในครึ่งปีหลังจะมีความสำคัญมากต่อราคาหุ้น และภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคจะอยู่ในความสนใจมากด้วยเช่นกัน ส่วนในตลาดหุ้นอื่นนอกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯจะอยู่ในเงื่อนไขเดียวกันด้วย เช่น ตลาดหุ้นเอเชีย ซึ่งเราพบว่าในบางบริษัทกลับมีราคาหุ้นต่ำเกินไป อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การลงทุนของเรายังคงอยู่ในเชิงรุก โดยจะเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาตก มากกว่าขายหุ้นทิ้งเมื่อราคาตก และเชื่อว่าจิตวิทยาของนักลงทุนจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น