ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กองทุนรวม โดดลงสนามแข่งเปิดศึกชิงเม็ดเงินออม ช่วงครึ่งหลังปี 52 พร้อมเสนอผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ๆ เพื่อดึงเงินออมมากขึ้น แนะจับตารูปแบบกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ทั้งกองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ และกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ฉายภาพธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 แนวโน้มคงจะเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันและช่องทางการออมต่างๆ ที่มีมากขึ้น นำโดย พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล และหุ้นกู้ภาคเอกชน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) คงจะต้องเตรียมหาผลิตภัณฑ์การลงทุนสำหรับลูกค้า เพื่อรองรับโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป เพื่อเป็นทางเลือกและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในตลาดกองทุนรวมมากยิ่งขึ้น
โดยปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่สำคัญได้แก่ การเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2552 รวมถึงหุ้นกู้ต่างๆ ของภาคเอกชน ซึ่งได้จุดชนวนให้สถาบันการเงินทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาวที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ออม
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจไทยที่อาจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังคงต้องเผชิญความไม่แน่นอนหลายประการ รวมทั้งยังคงต้องติดตามแนวโน้มเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ความผันผวนของตลาดหุ้น ตลอดจนการครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุนบางประเภท
ทั้งนี้ คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้กองทุนรวมต่างๆ อาจหันมานำเสนอผลิตภัณฑ์ที่อาศัยโอกาสการลงทุนยามที่เศรษฐกิจเร่งฟื้นตัว ได้แก่ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ และกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว
ขณะที่ราคาสินทรัพย์หลายประเภทในตลาดโลกเริ่มพุ่งทะยาน เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมัน ตลอดจนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการ บลจ.ในการกลับเข้าไปลงทุนในตลาดต่างประเทศอีกครั้ง ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน
ทั้งนี้ บลจ.หลายแห่งเริ่มเสนอขายกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2552 เนื่องจากสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในระดับที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในประเภทอายุเดียวกัน
นอกจากนี้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป อาจช่วยหนุนบริษัทเอกชนในการออกหุ้นกู้ เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในกองทุนทั้งสองประเภทแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับ บลจ.ในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาซื้อกองทุนทั้งสองประเภทในช่วงที่ราคาหุ้นปรับฐานลงไป
ขณะเดียวกัน ก็อาจอาศัยจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในช่วงปลายปีจากโอกาสการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นปันผล นั้น บลจ.อาจนำเสนอกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นปันผลให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในจังหวะที่พื้นฐานเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยกองทุนดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย
สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ธุรกิจกองทุนรวมมีการขยายตัวของ NAV 13.76% จากสิ้นปี 2551 โดยได้รับแรงหนุนจากการแสวงหาช่องทางการลงทุนของผู้ออม ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในรูปแบบที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์และการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นจากระดับ ณ สิ้นปี 2551 ซึ่งช่วยหนุน NAV ของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น
สำหรับภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นั้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม (ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2552) มูลค่าเท่ากับ 1,736,832.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,526,811.5 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2551 โดยจำนวนรวมของกองทุนทั้งหมดตลอดครึ่งแรกของปี 2552 พบว่ามีทั้งสิ้น 1,054 กอง และเมื่อพิจารณาแยกประเภทตามนโยบายการลงทุน พบว่ากองทุนรวมเกือบทุกประเภท NAV ปรับเพิ่มขึ้น นำโดยกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ และกองทุนรวมประเภทตราสารทุน