xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:ตลาดในประเทศ: ทางเลือกของธุรกิจไทย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในครั้งที่แล้วผมได้เขียนถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาโดยเฉพาะในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ตามทฤษฎีแล้วค่าเงินที่แข็งคงต้องมีผลกระทบต่อการส่งออกแน่นอน แต่สิ่งที่ผมให้พิจารณาควบคู่กันไปด้วยคือ เศรษฐกิจโลกที่หดตัวในขณะนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกหดตัวหรือไม่ ซึ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ ธนาคารโลกก็ได้ออกมาประกาศปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอีก โดยให้เศรษฐกิจโลกในปี 2552 นี้หดตัวที่ร้อยละ 2.9 จนเป็นประเด็นกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นในบ้านเราด้วย

ข้อมูลล่าสุดของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของธนาคารแห่งประเทศในเดือนเมษายน ได้ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 14.9 ในเดือนมีนาคม เป็นหดตัวร้อยละ 9.7 โดยกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลักในกลุ่มอิเลคโทรนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้น และดัชนี MPI ที่ปรับฤดูกาลแล้วได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทยที่ภาคการผลิตที่มีความสำคัญกว่าร้อยละ 40 ของ GDP ปรับตัวดีขึ้น (ซึ่งในวันพรุ่งนี้ จะมีข้อมูล MPI ของเดือนพฤษภาคมประกาศออกมา) หากนำข้อมูลดัชนี MPI และดัชนี MPI ที่แยกตามสัดส่วนเพื่อการส่งออกนี้มาปรับแต่งเล็กน้อย โดยให้ดัชนีในเดือนมกราคม 2551 มีค่าเท่ากับ 100 เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบจะสามารถคำนวณดัชนี MPI รวม และดัชนี MPI ที่แยกตามสัดส่วนเพื่อการส่งออกได้ดังตัวเลขในตาราง

จากตารางพบว่า MPI รวมในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 97.63 แสดงว่านับตั้งแต่ต้นปี (ในเดือนมกราคม 2551 MPI มีค่าเท่ากับ 100) วิกฤตสถาบันการเงินโลกในปี 2551 หรือวิกฤต Hamburger ได้ทำให้ระดับการผลิตปรับลดลงมาเรื่อยๆ และดัชนีในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ถือว่าลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นการลดลงมากสำหรับ MPI ที่ผลิตเพื่อการส่งออกมากกว่าร้อยละ 30 ที่ครอบคลุมถึงสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อิเลคโทรนิคส์ เครื่องหนัง เป็นต้น ซึ่งก็สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกที่หดตัวค่อนข้างมากในช่วงต้นปี 2552 นี้จากเศรษฐกิจโลกหดตัวลง แต่การที่สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคส์ได้เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้างแล้วจึงทำให้ MPI ที่ผลิตเพื่อการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ที่น่าสังเกตจากข้อมูล คือ MPI ที่ผลิตเพื่อการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น การผลิตในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ได้รับผลกระทบในปี 2551 ไม่มาก แม้ชะลอตัวบ้างในปี 2552 แต่ดัชนีปรับลดลงน้อยกว่ากลุ่มอื่นและได้มีการปรับตัวดีขึ้นแล้ว

ถามว่าข้อมูลนี้บอกอะไรเรา ข้อมูลนี้บอกว่าการผลิตเพื่อขายในประเทศไม่เลวร้ายนัก สะท้อนว่าการใช้จ่ายในประเทศยังพอมีกำลังอยู่ ซึ่งเมื่อมาดูข้อมูลการบริโภคภาคเอกชน จากดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามตาราง

พบว่าดัชนีการบริโภคภาคเอกชนแม้จะชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 และมีการหดตัวในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ แต่หากดูการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมได้เริ่มปรับตัวเป็นบวก ทั้งนี้จากการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชึ้ในกลุ่มภาษีมูลค่าเพิ่มและการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่คงทน ตรงนี้เลยเป็นสาเหตุที่มีคนพูดกันถึงว่าเศรษฐกิจได้มีสัญญาณการฟื้นตัวและมีการคาดกันว่าเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว นอกจากนี้ เหตุผลที่สนับสนุนอีกอย่างหนึ่ง คือ ตัวเลขการว่างงานที่หลายๆคนกลัวกันก็ไม่ได้แสดงอาการที่เป็นปัญหามากนัก

ผมนำข้อมูลดัชนี 2 ตัวมาแสดงทำไม ประเด็นที่สำคัญ คือ ผมพยายามหาโอกาสในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ สิ่งที่อยากชึ้ให้เห็น คือ หากสัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศมีต่อเนื่อง (ดัชนี PCI ปรับตัวดีต่อเนื่อง ต้องติดตามตัวเลขสำหรับเดือนพฤษภาคมในวันพรุ่งนี้ด้วย) ในยามที่การค้าขายกับต่างประเทศยังมีอุปสรรคจากทั้งเศรษฐกิจโลกที่หดตัวและค่าเงินบาทที่แข็งนี้ สิ่งหนึ่งที่นักธุรกิจน่าพิจารณา คือ ตลาดในประเทศ แน่นอนตลาดในประเทศนั้นเล็กกว่าตลาดโลกและไม่สามารถทดแทนตลาดต่างประเทศได้ทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลาง แต่สินค้าที่ผลิตและสามารถหาตลาดในประเทศได้ก็น่าที่จะพิจารณาตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นบ้าง กำลังซื้อที่ยังพอมีอยู่ก็จะช่วยพยุงการดำเนินการของธุรกิจ ช่วยให้มีการจ้างงานต่อเนื่องและก็ช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้อีกแรง อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของธุรกิจไทยในช่วงนี้ครับ

                                                                surachit@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น