xs
xsm
sm
md
lg

ความหวัง"เศรษฐกิจเเดนมังกร ฟันเฟืองใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตอนนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะประเทศไหน ก็ให้ความสำคัญเเละจับตามมองไปที่ เศรษฐกิจของประเทศจีน ด้วยความคาดหวังว่าประเทศจีนจะเป็นฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้ดีขึ้น เเต่กระนั้นนักวิเคราะห์หลายรายยังมองเห็นข้อดีเเละข้อเสียกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน มาดูกันว่ากูรูทั้งหลายมีความเห็นอย่างไรกันบ้าง

นับตั้งแต่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในเดือนพฤศจิกายน 2544 สินค้าส่งออกจีนที่เริ่มมาแรง ผนวกกับกระแสการลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามา ผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศจีนถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้การใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศจะยังล้าหลังกว่า เเต่ปัจจุบันเศรษฐกิจของจีนพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากยอดส่งออกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาทรุดฮวบลง ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกที่กรมศุลกากรประกาศออกมาเมื่อเร็วนี้ว่ายอดส่งออกเดือนพฤษภาคมร่วงทำลายสถิติ 26.4% เนื่องจากผู้ซื้อในประเทศพัฒนาแล้วยังระมัดระวังการสั่งซื้อสินค้า ซึ่งวิกฤตภาคส่งออกของจีนนั้น กลายเป็นตัวฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างรุนแรง โดยเวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าปีนี้จีนจะขยายตัวแค่ 6.5% เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533

ดังนั้น รัฐบาลจึงทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ส่งผลให้การลงทุนภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากยอดค้าปลีกของจีน ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมโตขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตัวเลขขยายตัวสูงกว่า 14.8% ในเดือนเมษายน และในช่วง 4 เดือนแรกของปี ยอดค้าปลีกขยายตัวถึง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางรายกังขาว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจส่งผลให้สถานการณ์ในปัจจุบันยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกหรือไม่

โดย จิง อุลริช ประธานหน่วยลงทุนของเจพี มอร์แกน แสดงทัศนะว่า การที่เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น หน่วยงานกำหนดนโยบายจะต้องดำเนินการสร้างความมั่นใจว่า การบริโภคยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคง และการอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนมหาศาลจะไม่ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลอยู่แล้วต้องย่ำแย่ลงไปอีก

ล่าสุดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อาทิ ถนน โรงงาน และอพาร์ตเม้นท์ของจีนโตทุบสถิติสวนทางกับยอดส่งออกจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุ เม็ดเงินใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของจีนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 32.9%

อี๋ว์ สง นักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมน แซคส์ มองว่า หลังปรับตัวจากความกดดันของภาวะเงินเฟ้อแล้ว ยอดใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของจีนในเดือนพฤษภาคมขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้วถึงเกือบ 50% และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังผลักดันให้มันเติบโตขึ้นอีก ดังจะเห็นได้จากงบที่ใช้สร้างทางรถไฟในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นถึง 110.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ล้านล้านหยวนมุ่งเน้นอัดฉีดเงินในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน จึงทำให้ผลผลิตอุตสาหกรรมของเดือนพฤษภาคมปรับตัวสูงขึ้นตาม ดังจะเห็นได้จากการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในโครงการก่อสร้างดีดตัวขึ้น 13.5% จากปีก่อนหน้า โดยผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวมของเดือนที่แล้วเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 8.9% และอัตราขยายตัวยังเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนและมีนาคมที่ขยายตัวเพียงแค่ 7.3% และ 8.3% เท่านั้น แต่อย่างไรเสียก็ยังขยายตัวไม่เท่ากับ 16% ในเดือนพฤษภาคมปี 2551

ในทางกลับกันมีหลายฝ่ายมองว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือโครงการลงทุนมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (585,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งกำหนดระยะเวลา 2 ปี ของจีน เมื่อดูจากงบประมาณ ที่ประกาศอย่างเป็นทางการ จะเห็นว่าขณะนี้รัฐบาลจีนได้แบ่งสรรเงินให้โครงการไปแล้วเพียง 1 ใน 4 ส่วน โดยมีการอนุมัติโครงการต่างๆ อย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลกลางให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพียงบางส่วน เงินลงทุนส่วนใหญ่ คณะผู้บริหารท้องถิ่นต้องขวนขวายหากันเอง

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คณะผู้บริหารท้องถิ่นจึงก่อหนี้สินก้อนใหญ่ เนื่องจากลำพังงบประมาณท้องถิ่นเองไม่มากพอรองรับโครงการลงทุนเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลางก็ให้การสนับสนุนการขอกู้สินเชื่อในทางอ้อม แต่ไม่ปรากฏในงบประมาณของรัฐบาลกลาง

โดย สตีเฟ่น กรีน นักเศรษฐศาสตร์ ของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ในเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า เกิดหนี้ก้อนมหาศาลของรัฐบาลกลาง ที่มิได้มีการรายงาน ซึ่งขณะนี้กำลังเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เงินกู้ก้อนใหม่สำหรับโครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค มีจำนวนทั้งสิ้น 894,800 ล้านหยวน หรือร้อยละ 22 ของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด

ขณะที่เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม บริษัทท้องถิ่นมีการขายพันธบัตร เพื่อระดมทุน รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 102,530 ล้านหยวน เช่นเดียวกับชาติอื่น ๆ ที่ดำเนินแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ขณะนี้จีนกำลังพนันขันต่อว่า เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วขึ้นในอนาคตจะช่วยผ่อนคลายภาระหนี้ที่กำลังเกิดในตอนนี้ และหลายฝ่ายยังคงเชื่อมั่นว่า จีนจะชนะพนันครั้งนี้ เหมือนที่เคยชนะพนันแบบเดียวกันมาก่อนหน้าแล้ว

“ถ้าเศรษฐกิจโต รายได้จากการจัดเก็บภาษีย่อมเพิ่มขึ้น และการชำระหนี้ย่อมไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ตามความเห็นของผม หนี้จำนวนนี้เหล่านี้ยังควบคุมได้” นายหลิว ซั่งซี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกี่ยวกับรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งเป็นคลังสมองของกระทรวงการคลังของจีนแสดงความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม หนี้สิน ที่คณะผู้บริหารท้องถิ่นก่อเอาไว้ ก่อนหน้าการกู้สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็เป็นเงินก้อนใหญ่ไม่น้อย

สถาบันวิจัยเกี่ยวกับรายได้ของแผ่นดินประเมินว่า หนี้สินของคณะผู้บริหารท้องถิ่น ที่ไม่ระบุในงบประมาณ มีสูงราว 4 ล้านล้านหยวน ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับมูลค่าของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจพอดิบพอดี และคิดเป็นร้อยละ 16.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ในขณะที่รัฐบาลกลางต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้ที่ซ่อนเร้นเหล่านั้น ยอดหนี้สินของทั้งประเทศก็ขยับใกล้แตะร้อยละ 35 ของจีดีพี จากเดิมซึ่งทางการกำหนดไว้ที่ร้อยละ 18 และเมื่อการจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมาก การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจีนในปีนี้ อาจสูงกว่าที่กำหนดไว้ร้อยละ 3 ของจีดีพี โดยงบประมาณจัดทำบนพื้นฐานการเพิ่มขึ้นของรายได้ในปีนี้ที่ร้อยละ 8 ทว่านับจากเดือนเมษายนมา รายได้ของรัฐบาลลดลงร้อยละ 9.9

หม่า จวิน นักเศรษฐศาสตร์ ของดอยต์ชแบงก์ คาดว่า จีนจะขาดดุลงบประมาณร้อยละ 4 ของจีดีพีในปีนี้ดังนั้น สภาพการเงินของรัฐบาลจีนจึงมิได้สวยหรูเหมือนอย่างที่ปรากฏในตอนแรกสักทีเดียวนัก อย่างไรก็ตาม ก็ยังจัดว่าดีกว่าชาติที่มีหนี้สินสูงชาติอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น, อิตาลี หรือสหรัฐฯสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากมาย จึงทำให้การรับทราบเกี่ยวกับระดับความเลวร้ายที่เกิดขึ้น แทบทำไม่ได้เลย

“การให้อิสระระดับหนึ่งแก่คณะผู้บริหารท้องถิ่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจนับเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็เกิดปัญหาว่า เราไม่ทราบว่าคณะผู้บริหารท้องถิ่นกำลังทำอะไร นี่อาจกลายเป็นภาระใหญ่ทางการเงินในอนาคตได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น