เอเจนซี – นับตั้งแต่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในเดือนพฤศจิกายน 2544 สินค้าส่งออกจีนที่เริ่มมาแรง ผนวกกับกระแสการลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามา ผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศจีนถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้การใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศจะยังล้าหลังกว่า
แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจของจีนพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากยอดส่งออกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาทรุดฮวบลง ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกที่กรมศุลกากรประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (11 มิ.ย.) ว่า ยอดส่งออกเดือนพฤษภาคมร่วงทำลายสถิติ 26.4% เนื่องจากผู้ซื้อในประเทศพัฒนาแล้วยังระมัดระวังการสั่งซื้อสินค้า ซึ่งวิกฤตภาคส่งออกของจีนนั้น กลายเป็นตัวฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างรุนแรง โดยเวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าปีนี้จีนจะขยายตัวแค่ 6.5% เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533
ดังนั้นรัฐบาลจึงทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ส่งผลให้การลงทุนภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ดังจะเห็นได้จากยอดค้าปลีกของจีน ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมโตขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตัวเลขขยายตัวสูงกว่า 14.8% ในเดือนเมษายน และในช่วง 4 เดือนแรกของปี ยอดค้าปลีกขยายตัวถึง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางรายกังขาว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจส่งผลให้สถานการณ์ในปัจจุบันยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกหรือไม่
โดย จิง อุลริช ประธานหน่วยลงทุนของเจพี มอร์แกน แสดงทัศนะว่า “การที่เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น หน่วยงานกำหนดนโยบายจะต้องดำเนินการสร้างความมั่นใจว่า การบริโภคยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคง และการอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนมหาศาลจะไม่ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลอยู่แล้วต้องย่ำแย่ลงไปอีก”
โดยล่าสุดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อาทิ ถนน โรงงาน และอพาร์ตเม้นท์ของจีนโตทุบสถิติสวนทางกับยอดส่งออก
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุ เม็ดเงินใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของจีนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 32.9%
ซึ่งนาย อี๋ว์ สง นักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมน แซคส์ มองว่า หลังปรับตัวจากความกดดันของภาวะเงินเฟ้อแล้ว ยอดใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของจีนในเดือนพฤษภาคมขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้วถึงเกือบ 50% และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังผลักดันให้มันเติบโตขึ้นอีก ดังจะเห็นได้จากงบที่ใช้สร้างทางรถไฟในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นถึง 110.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
และการที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ล้านล้านหยวนมุ่งเน้นอัดฉีดเงินในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน จึงทำให้ผลผลิตอุตสาหกรรมของเดือนพฤษภาคมปรับตัวสูงขึ้นตาม ดังจะเห็นได้จากการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในโครงการก่อสร้างดีดตัวขึ้น 13.5% จากปีก่อนหน้า โดยผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวมของเดือนที่แล้วเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 8.9% และอัตราขยายตัวยังเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนและมีนาคมที่ขยายตัวเพียงแค่ 7.3% และ 8.3% เท่านั้น แต่อย่างไรเสียก็ยังขยายตัวไม่เท่ากับ 16% ในเดือนพฤษภาคมปี 2551