xs
xsm
sm
md
lg

บาทแข็งสุดรอบ 8 เดือน “อลงกรณ์” กระทุ้ง ธปท.ต้องคุมให้นิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมช.พาณิชย์ จี้ ธปท.คุมค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ยอมรับเข้าหารือ “มาร์ค” และเคยส่งสัญญาณไปแล้วหลายครั้ง ห่วงสถานการณ์บาทแข็ง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยอมรับเงินบาทสัปดาห์ที่แล้วแข็งค่าที่สุดในรอบ 8 เดือน

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในขณะนี้ โดยระบุว่าได้หารือกับนายกรัฐมนตรี และได้ให้ความเห็นไปทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นระยะๆ โดยขอให้ช่วยรักษาอัตราแลกเปลี่ยนของไทยให้แข็งค่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม จากปัจจุบันที่อัตราแลกเปลี่ยนของไทย ถือว่าแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งมาก ทำให้ความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออกของผู้ประกอบการไทยลดลง จากราคาสินค้าที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง

นอกจากนี้ รมช.พาณิชย์ ยังกล่าวอีกว่า อัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่แข็งค่าในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสเงินทุนไหลเข้า จากการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่การซื้อขายทะลุ 600 จุด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ด้าน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานการเคลื่อนไหวเงินบาทในประเทศ (Onshore) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-5 มิถุนายน 2552) โดยระบุว่า เงินบาทแข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนก่อนลดช่วงบวกลงในช่วงปลายสัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามสกุลเงินในภูมิภาค การทะยานขึ้นของตลาดหุ้นไทยโดยมีนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิ และแรงเทขายดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าทะลุแนวต้านสำคัญที่ 34 บาทในช่วงกลางสัปดาห์ ขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทถูกจำกัดโดยแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า เป็นการเข้าดูแลเสถียรภาพเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดจนแรงขายเงินบาทเพื่อทำกำไรของนักลงทุนในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับในวันศุกร์ เงินบาทอ่อนค่ามาที่ระดับประมาณ 34.18 (ตลาดเอเชีย) เทียบกับระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 พฤษภาคม 2552)

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (8-12 มิถุนายน 2552) เงินบาทในประเทศอาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 34.00-34.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ สัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของ ธปท. ทิศทางของตลาดหุ้น และการปรับตัวของสกุลเงินในภูมิภาค

ขณะที่ทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจขึ้นอยู่กับการเปิดเผยเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่สามารถคืนเงินให้กับโครงการลดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของรัฐบาลสหรัฐฯ (TARP) ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ อาทิ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ สตอกสินค้าภาคค้าส่ง-ภาคธุรกิจ เดือนเมษายน 2552 ยอดค้าปลีก ดุลการคลัง ดัชนีราคานำเข้าส่งออก เดือนพฤษภาคม 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
กำลังโหลดความคิดเห็น