xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เด้งแผนดอนเมือง สั่ง สศช.ดูรายละเอียดเพิ่มอีก 90 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.เศรษฐกิจเด้งแผนพัฒนาสนามบินดอนเมือง 6 โครงการ ติงขาดรายละเอียด สั่ง สศช.ศึกษารายละเอียดใน 90 วัน “โสภณ” ไม่ท้อ แม้หลายโครงการจะถูกถูกคัดค้าน ทั้งเช่าเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน, ปรับโครงสร้าง ร.ฟ.ท.ก่อนหน้านี้ ยันเดินหน้าทุกโครงการ ยอมรับเปิดเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ไม่ทัน ธ.ค.ตามเป้า ระบุในที่สุดรัฐบาลต้องตัดสินใจปล่อยยืดเยื้อไม่ได้

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ วานนี้ (29 ก.ค.) ว่า กระทรวงคมนาคม ได้รายงานผลการย้ายเที่ยวบินภายในประเทศของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กลับไปให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง และรายงานการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งมีแผนพัฒนา 6 โครงการรองรับอุตสาหกรรมการบิน และ International Free Trade Zone ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับการพัฒนาแต่ท้วงติงว่า การพัฒนา 6 โครงการที่นำเสนอนั้นมีรายละเอียดน้อย จึงมีมติให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้ศึกษากรอบการดำเนินโครงการและเสนอ ครม.อีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์และให้สรุปรายละเอียดการศึกษาภายใน 90 วัน

“ครม.เห็นด้วยกับการพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ติงที่รายละเอียดน้อย จึงให้สศช.ศึกษาเพิ่มเติม เช่น ประเด็นมูลค่าการลงทุนในแต่ละโครงการ ความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นต้น เพื่อความรอบคอบ” นายโสภณ กล่าว

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจ เห็นว่า รายละเอียดของแผนน้อยมากรวมถึงไม่มีรายละเอียดของเงินลงทุน และกระทรวงคมนาคมเองก็ไม่สามารถตอบคำถามที่ชัดเช่นในกรณีที่นายกรัฐมนตรีถามถึงแผนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้ สศช.กลับไปจัดทำแผนการพัฒนาศูนย์กลางการบินในภูมิภาคให้ชัดเจน

โดยให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานนานาชาติเพียงแห่งเดียว และให้พิจารณาอย่างชัดเจนว่าท่าอากาศยานดอนเมืองจะลงทุนอย่างไร และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเดินหน้าอย่างไร โดยมีกำหนดศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

ยอมรับ เปิดแอร์พอร์ตลิงก์ไม่ทัน ธ.ค.

สำหรับการปรับโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท.คัดค้านการจัดตั้งบริษัทลูก และส่งผลกระทบต่อการเปิดเดินรถโครงการระบบขนส่งทางรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีขนส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตลิงก์เรลลิงก์) นั้น นายโสภณ กล่าวว่า คงต้องขอร้องให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ประโยชน์ของ ร.ฟ.ท.และประเทศชาติเพราะเรื่องการเปิดเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์นั้น นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อมูลกับต่างประเทศไปแล้วว่าจะเปิดในเดือน ธ.ค.2552

“หากภายใน 1-2 วันนี้ ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ คาดว่า การเปิดเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์จะไม่ทันกำหนดในเดือน ธ.ค.2552 นี้แน่นอน จึงอยากให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว เคารพกติกา และปล่อยให้ทุกอย่างเดินไปตามที่ควรเป็น เรื่องก็จบเร็ว แต่หากเดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้แบบนี้ลำบาก และถ้ายืดเยื้อแบบไม่มีเหตุผล รัฐบาลและผมก็คงต้องตัดสินใจ

เพราะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพียงแต่ต้องให้เวลาทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจกัน ซึ่งผู้บริหาร ร.ฟ.ท.ต้องคุยกับสหภาพอยู่แล้ว ส่วนผมยืนยันไปแล้วว่า การจั้ดตั้งบริษัทไม่ได้เป็นการแปรรูป ไม่ได้ขายทรัพย์สินและไม่กระทบกับรถไฟเลย” นายโสภณ กล่าว

ไม่ท้อขอทำงานต่อแม้ถูกเด้งทุกโครงการ

ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติไม่ชอบ สภาผู้แทนราษฎร สรุปผลสอบโครงการเช่ารถเมล์ NGV 4,000 คัน ว่า มีความผิด 5 ประเด็น และเตรียมยื่นคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น นายโสภณ กล่าวว่า ใครจะเสนออะไรก็เสนอไป และไม่ขอตอบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการยื้อโครงการให้ล่าช้าออกไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้เรื่องของสนามบินสุวรรณภูมิที่ต้องมีการพัฒนาเหมือนโครงการรถเมล์เอ็นจีวี คือ พอจบเรื่องหนึ่งก็เปิดประเด็นใหม่ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การที่โครงการของกระทรวงคมนาคมที่นำเสนอ ครม.หลายโครงการ เช่น โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน แผนปรับโครงสร้าง ร.ฟ.ท.และล่าสุด โครงการพัฒนาท่าอากาศดอนเมือง 6 โครงการถูกครม.ตีกลับ และถูกคัดค้าน ทำให้โครงการสะดุดไม่เดินหน้านั้น นายโสภณ ยืนยันว่า ไม่รู้สึกท้อในการทำงานแต่อย่างใด 

ยื่นฟ้องมติ ครม.ปรับโครงสร้าง ร.ฟ.ท.

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายกฤษศักดา วัฒนพงษ์ ทนายความ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 -3 โดยขอให้ศาลปกครองระงับมติ ครม.ที่มีมติให้ปฏิรูปโครงสร้างรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยฟ้องคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 3 รมว.คมนาคม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 4 กระทรวงคมนาคม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 5 การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 6 และ คณะกรรมการกำกับนโยบาย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 7

ทั้งนี้ เนื่องจากว่า ครม.ได้มีมติให้ตั้งบริษัทลูกเข้ามาบริหารร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยจะมีการโอนถ่ายภายใน 180 วันให้กับ 2 บริษัทดำเนินการ ประกอบด้วย บริษัทบริหารสินทรัพย์ และ บริษัทเดินรถ ซึ่งกำลังจะแปรสภาพจากเดิม แต่การที่รัฐได้เอาบริษัทเอกชนเข้าร่วมรวมโดยอ้างว่ารัฐยังถือหุ้น 100% นั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งการดำเนินการต่างๆ สหภาพรับไม่ได้ เพราะรัฐบาลได้ดำเนินการโดยไม่ได้เรียกสหภาพมาร่วมหารือแต่อย่างไร อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า หากยังมีการดำเนินอยู่ตนและพวกก็จะมาร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน และคุ้มครองชั่วคราวต่อไป นอกจากนี้ เราเตรียมยื่นฟ้องอาญาใน มาตรา 157 และฟ้องทางแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น