xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด “หมอสมศักดิ์” คว้าเก้าอี้นายกแพทยสภาสมัย 5 เฉือน “คณบดีแพทย์ศิริราช” คะแนนเดียว!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
“หมอสมศักดิ์” คว้าเก้าอี้นายกแพทยสภาเป็นสมัยที่ 5 ตามคาด หลังเฉือนชนะ “หมอธีรวัฒน์” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช แค่ 1 คะแนน เตรียมเดินหน้าแก้กฎหมายไม่ให้แพทย์ถูกฟ้องอาญา สร้างความสมดุลแพทย์-ผู้ป่วย ด้าน “หมอสมศักดิ์” พ้อดีใจและอึดอัดใจได้เป็นนายกฯ เป็นเป้าถูกโจมตีป้องหมอ เล็งแก้ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ยืดอายุจาก 2 ปีเป็น 3 ปี กำหนดเป็นติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ


วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ในการประชุมกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 2/2552 ที่ประชุมมีมติเลือกตั้งและแต่งตั้งทีมผู้บริหารแพทยสภาได้แก่ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา เป็นนายกแพทยสภา และแต่งตั้งทีมผู้บริหารแพทยสภา ประกอบด้วย ศ.คลินิกนพ.อำนาจ กุสลานันท์ เป็นอุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร เป็นอุปนายกแพทยสภาคนที่ 2 นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เป็นเลขาธิการแพทยสภา นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ เป็นรองเลขาธิการแพทยสภา และนพ.สิน อนุราษฎร์ เป็นเหรัญญิกแพทยสภา ที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งกรรมการบริหารกลาง 3 คน ได้แก่ นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ นพ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล และพล.ต.ต.นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ รวมมีคณะกรรมการบริการ จำนวน 9 คน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

นพ.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นนายกแพทยสภาจำนวน 2 คน ได้แก่ ศ.นพ.สมศักดิ์ และรศ.นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ คณบดีคณะแพทยศาตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกชนะด้วยคะแนน 26 ต่อ 25 คะแนน ถือเป็นโดยมีกรรมการแพทยสภาเข้าร่วมประชุม 51 คน จากจำนวนทั้งสิ้น 52 คน ขาดเพียงนพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ติดสอนหนังสือที่จ.เชียงใหม่ และได้แจ้งล่วงหน้าก่อนหน้านี้แล้ว

“การที่คะแนนเลือกตั้งนายกแพทยสภาชนะกันเพียง 1 คะแนนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ได้หมายความว่าความเชื่อมั่นใน ศ.นพ.สมศักดิ์ ลดลงเพราะคะแนนที่ได้รับในการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาก็มากเป็นอันดับ 1 แต่อาจเป็นเพราะมีการตื่นตัวในกลุ่มกรรมการแพทยสภามากขึ้นและผู้มีความเหมาะสมมากขึ้นเช่นกัน และเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเช่นไรทุกฝ่ายก็พร้อมยอมรับ โดยไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่สวยงาม “นพ.สัมพันธ์กล่าว

นพ.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ แพทยสภามีนโยบายในการตั้งทีมโฆษกแพทยสภา ทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจนและรวดเร็วแก่สื่อมวลชน เพื่อให้การดูแลประชาชนและแพทย์อย่างดีที่สุดอยู่บนความสมดุลของทั้งสองฝ่าย มีการเชิญบุคคลภายนอก เช่น ผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายและพิจารณาคดีเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการจริยธรรมของแพทยสภา ซึ่งเดิมไม่มีบุคคลภายนอก แต่จะต้องนำเข้าที่ประชุมกรรมการแพทยสภาก่อน และจะประสานคณบดีคณะแพทยศาสตร์และผู้บริหารระดับสูงในวงการแพทย์เข้ามาร่วมกันทำงานมากขึ้น

“ส่วนการแก้กฎหมาย เพื่อไม่ให้แพทย์ถูกฟ้องทางอาญาก็จะดำเนินการต่อไปแต่ไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะถูกฟ้องทางอาญาไม่ได้ แต่จะฟ้องร้องได้ต่อเมื่อสะเพรา บกพร่อง เจตนาหรือจงใจในการทำให้เกิดความเสียหาย ที่ถือเป็นความประมาทอย่างร้ายแรงเท่านั้น เพราะการประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องใช้ดุลยพินิจของแพทย์อย่างมาก ถ้าแพทย์ทำพลาดไม่ได้เลยก็น่าหนักใจ จึงต้องปกป้องแพทยที่ดี ทำให้เกิดความสมดุลทั้งแพทย์และผู้ป่วย” นพ.สัมพันธ์กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและอึดอัดใจพร้อมๆ กัน เพราะการทำหน้าที่เป็นนายกแพทยสภาถือเป็นภาระ เป็นเรื่องที่ต้องเสียสละ ถือเป็นอาสาสมัครที่ไม่มีเงินเดือน แต่เมื่อสมาชิกแพทย์จากทั่วประเทศเลือกเข้ามาก็ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่เท่าที่จะสามารถทำได้เพื่อองค์กร ประชาชน และประเทศชาติ โดยเน้นการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ ตั้งทีมโฆษกแพทยสภาในการชี้แจงให้ความรู้กับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงการสนับสนุนพัฒนาคุณภาพชีวิตแพทย์ในภาครัฐให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการอบรมจรรยาแพทย์ควบคู่การหลักความรู้ วิชาการ

“ผมไม่ได้มีความสุขนักในการเข้ามาทำงาน เพราะเป็นจุดแรกที่มักถูกโจมตีหากเกิดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับคนไข้เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องสนุก ดังนั้น ในวาระการทำงานครั้งนี้ จะเสนอให้มีการการแก้ไขพ.ร.บ.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมกำหนดให้กรรมการแพทยสภาดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี ไม่เกินครั้งละ 2 วาระ เนื่องจาก 2 ปี นั้นในการทำงานน้อยเกินไป รวมทั้งจะกำหนดให้มีการต่อใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์จากเดิมที่ขออนุญาตครั้งเดียวตลอดชีพ เพื่อให้แพทย์ได้ศึกษาเรียนรู้วิทยาการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นซึ่งถือเป็นการพัฒนาวิชาชีพด้วย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนผลคะแนนที่มีความสูสีนั้น ถือเป็นครั้งแรก ส่วนตัวเห็นว่า การลงมติเลือกตั้งลักษณะนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เนื่องจากแพทย์ครึ่งหนึ่งเป็นกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง ไม่ได้เข้ามาโดยการเลือกตั้ง แต่กลับมีสิทธิเลือกนายกแพทยสภา ซึ่งคณะกรรมการส่วนนี้จะมีการเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะมีการเพิ่มคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย จึงควรจะมีการแก้ไขให้คณะกรรมการส่วนนี้ผ่านการคัดเลือกจากคณบดีแต่ละมหาวิทยาลัยแพทย์ก่อน

ด้าน รศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ยอมรับมติคณะกรรมการแพทยสภาซึ่งเป็นไปตามกฎ กติกา ซึ่งหากอยากให้ตนทำงานก็จะทำ เมื่อผลออกมาในลักษณะนี้แสดงว่ายังไม่ถึงเวลา อย่างไรก็ตาม จะช่วยทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะคณบดีมหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของแพทยสภามากยิ่งขึ้น

อนึ่ง สำหรับ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา เป็นนายกแพทยสภามาทั้งสิ้น 4 สมัย ครั้งนี้เป็นสมัยที่ 5 โดยมีวาระคราวละ 2 ปี

กำลังโหลดความคิดเห็น