กทม.ยันเดินหน้าต่อซูเปอร์สกายวอล์ก แจง สตง.ห่วงเรื่องการให้ข้อมูลประชาชน ไม่ใช่ค่าก่อสร้างราคาแพง สั่ง สจส.สำรวจความคิดเห็นเพิ่ม 3 สาย สุขุมวิท-รามคำแหง-พญาไท ให้ลงลึกถึงเลขบ้าน เผยพร้อมส่งการบ้านภายใน 60 วัน ส่วนสายวงเวียนใหญ่ไม่มีปัญหา “ธีระชน” ฉุนพวกปล่อยข่าวมั่ว สั่งสำนักกฎหมายฯ เดินหน้าฟ้องอาญารักษาชื่อเสียงองค์กร
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ถึงกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือมาถึง กทม.ตรวจสอบกรณีโครงการทางเดินยกระดับ หรือซูเปอร์สกายวอล์ก ว่า กทม.ยืนยันเดินหน้าดำเนินโครงการต่อไป ซึ่ง สตง.ไม่ได้ห้ามดำเนินโครงการ แต่เป็นข้อเสนอแนะ ซึ่ง กทม.จะรับไปดำเนินการต่อให้ครบถ้วน
ด้าน นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า หนังสือที่ สตง.ส่งมามีอยู่ 3 ประเด็น คือ โครงการในระยะที่ 1 ที่ประกอบด้วย 4 เส้นทาง คือ สายสุขุมวิท รามคำแหง พญาไท และสายวงเวียนใหญ่ สตง.ได้ทักท้วงใน 3 สายแรก ที่กทม.ได้มีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเมื่อปี 2552 จำนวนประมาณ 500 คนและมีผู้เห็นด้วยกับโครงการร้อยละ 88 นั้น เป็นผลสำรวจที่อาจยังไม่ครอบคลุมและยังไม่ตรงกับกลุ่มประชาชนหรืออาคารที่ อยู่ในพื้นที่ ซึ่งในเรื่องนี้เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้สำรวจซึ่งได้ผลที่สอดคล้องกันคือมีผู้เห็น ด้วยกว่าร้อยละ 87 แต่เมื่อทาง สตง.ทักท้วงในเรื่องนี้ ตนเองก็ได้สั่งให้ทางสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ไปทำการสำรวจเพิ่มอีก โดยให้ลงรายละเอียด ระบุข้อมูลในส่วนของเลขที่บ้านที่ไปทำการสำรวจด้วย และโครงการในเฟสที่ 2 ระยะทางกว่า 32 กิโลเมตร งบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาทนั้น จะให้ สจส.ว่าจ้างที่ปรึกษาในการศึกษารายละเอียดมากขึ้นโดยให้ศึกษา FIR และ EIRRด้วย ซึ่งจะต้องจัดงบประมาณในการจ้างส่วนนี้เพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2555 ส่วนโครงการสายวงเวียนใหญ่ที่ไม่มีประเด็นข้อท้วงติงนั้นตนจะให้เร่งเดินหน้าต่อไป
ประเด็นที่ 2 ในเรื่องที่ สตง.ท้วงถึงกรณีการสอบถามความเห็นที่ไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องงบ ประมาณและต้นทุนโครงการกับประชาชนนั้น ขอยืนยันว่าโครงการของ กทม.ราคาได้ตั้งงบบนฐานการคิดที่ต่ำที่สุด ซึ่งต่ำกว่าที่ภาคเอกชนสร้างอยู่ที่ 50,000-100,000 บาทต่อตารางเมตร แต่ กทม.คิดราคาที่ประมาณ 43,000 บาทต่อตารางเมตร และการคำนวณเป็นไปตามระเบียบพัสดุ ซึ่งในเรื่องราคาโครงการที่แพงนี้มีข้อมูลที่เป็นเท็จออกมามากทำให้ กทม.เสียหาย ดังนั้น ตนจึงได้ทำบันทึกเป็นคำสั่งให้สำนักงานกฎหมายและคดี ไปตรวจสอบว่าข้อมูลที่เป็นเท็จที่ออกไปสู่สาธารณชนเหล่านั้นหากทำให้ กทม.ได้รับผลกระทบจะต้องฟ้องดำเนินคดีทางอาญาเพื่อปกป้องชื่อเสียงขององค์กร สำหรับประเด็นที่ 3 สตง.ได้เร่งรัดการเตรียมระบบบริหารจัดการ ในเรื่องของความปลอดภัยและมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ค้าขึ้นไปยึดทางเดินลอย ฟ้าเป็นที่ขายของ ซึ่งในเรื่องนี้ กทม.ก็ดำเนินการอยู่และมีแผนรองรับในส่วนของโครงการใหม่
นายธีระชนกล่าวต่อว่า ทุกโครงการไม่มีโครงการใดที่จะมีคนเห็นด้วยทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สกายวอล์กที่ กทม.ดำเนินการนี้เป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ เพราะ หนึ่งกิโลเมตรกว่าๆ ที่มีอยู่ก็พิสูจน์ตัวเองว่าคนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งข้อทักท้วงของ สตง.ทุกข้อก็พร้อมจะดำเนินการเพื่อให้โครงการมีความรอบคอบ มากขึ้น ซึ่งจะแจ้งผลให้สตง.ภายใน 60 วันตามที่กำหนดมา อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการวิพากษ์วิจารณ์และข่าวต่างๆ ที่ออกมามีผลกระทบมาซึ่งอย่างน้อยขณะนี้สายวงเวียนใหญ่ก็ไม่มีประเด็นปัญหาใดๆ ซึ่งจะทำให้ข้าราชการเกิดความมั่นใจมากขึ้น ตนเองขอยืนยันว่าทุกโครงการที่ทำตัดสินใจบนพื้นฐานของการศึกษาข้อมูลมาแล้ว และเป็นที่ยอมรับของเมืองใหญ่ทั่วโลก ขอให้มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนไม่ใช่ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว และแน่นอนว่าสกายวอล์กสายสุขุมวิทที่ กทม.ตั้งใจจะเปิดใช้ให้ทันวันที่ 5 ธ.ค.นี้ คงไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย