xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.โวยถูกเบรกขึ้นราคาก๊าซ "แอลพีจี-เอ็นจีวี" ทวงหนี้กองทุนน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร ปตท.โวยรัฐสั่งชะลอขึ้นราคาก๊าซ "แอลพีจี-เอ็นจีวี" แบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน หวั่นความนิยมใช้เพิ่มขึ้น ปตท. อาจต้องสั่งนำเข้า 5 แสน ถึง 1 ล้านตัน ในปี 52 พร้อมจี้รัฐเร่งนำเงินกองทุนมาจ่ายชดเชย "มาร์ค" แจงรัฐเบรกขึ้นราคาก๊าซ เพราะสวนทางกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ยันสถานการตลาดโลกเปลี่ยน ก็สามารถพิจารณาใหม่ได้ เพราะไม่ได้เปลี่ยนหลักการ เพียงแต่จังหวะเวลาไม่เหมาะสม ตอกสมมติฐานที่ ปตท.ตั้งไว้ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการที่รัฐบาลส่งให้ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และเอ็นจีวี อย่างไม่มีกำหนด เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน ตนเองเข้าใจถึงจุดประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนได้รับมาตรการช่วยเหลือทุกภาคส่วน ซึ่งในขณะนี้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว

ทั้งนี้ ปตท.ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่หากไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนแล้ว อนาคตปริมาณการนำเข้าแอลพีจีจะต้องเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปี 2552 ต้องนำเข้าประมาณ 5 แสนถึง 1 ล้านตัน ซึ่งในปี 2551 ที่ผ่านมา ปตท.นำเข้าสูงถึง 4 แสนตัน มูลค่าประมาณเกือบ 9 พันล้านบาทแล้ว

โดยที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท.ได้กำหนดกรอบด้านการเงิน เพื่อนำเข้าแอลพีจีประมาณ 10,000 ล้านบาท ดังนั้น หากภาระการนำเข้ามาก่อนสูงกว่ามูลค่าที่กำหนด ก็คงจะต้องหารือกันในคณะกรรมการอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร โดยเบื้องต้นแนวทางที่ดีที่สุด คือ ภาครัฐควรเร่งนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมารับภาระนำเข้าแทน ปตท.เพื่อไม่ให้เกิดภาระมากเกินไป

“หากปีนี้ส่วนต่างราคาแอลพีจีในและต่างประเทศ อยู่ประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อตัน ก็คาดว่า ภาระนำเข้าจะอยู่ประมาณ 2,000- 3,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่น่ากังวลคือหากความนิยมใช้แอลพีจีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภาระของประเทศต้องเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ต้องนำเข้าแอลพีจีที่เพิ่มสูงขึ้นตลอด ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันต้องส่งออกน้ำมัน ภาระค่าขนส่งก็จะเพิ่มเป็น 2 เด้ง”

นายประเสริฐ กล่าวว่า ในส่วนของเอ็นจีวีที่มีภาระเพิ่มขึ้นจากการที่ไม่ได้ปรับราคานั้น ซึ่งมีประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี ในส่วนนี้จะรวมอยู่ในผลประกอบการสุดท้าย ภาครัฐที่ถือหุ้นใน ปตท.ร้อยละ 67 ก็จะได้รายได้จาก ปตท.ลดน้อยลงไปด้วย และยังกระทบต่อการขยายงานการลงทุนในอนาคตของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเอ็นจีวีทั้งหมด ซึ่งเมื่อประชาชนมีภาระ ภาครัฐดูแลประชาชนก็มีภาระ ในขณะที่ ปตท.มีภาระการลงทุนในอนาคต ก็ควรจะพิจารณาให้รอบคอบว่าจะสร้างความสมดุลเหล่านี้อย่างไร

โดยวานนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ชะลอการปรับขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวีออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยระบุว่า ในภาวะเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจขาลง หากรัฐบาลขึ้นราคา ทั้งที่ความจำเป็นเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็จะทำให้กระทบกับค่าครองชีพของประชาชน และเป็นปัญหาสวนทางกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ชะลอไป แต่หากวันข้างหน้าราคาน้ำมันในตลาดโลกเปลี่ยนแปลง มีปัญหาที่จะต้องนำเข้าอีกหรือไม่ ก็สามารถที่จะพิจารณากันได้ เพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการ เพียงแต่จังหวะเวลาไม่เหมาะสม และสมมติฐานที่ตั้งไว้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น