ปตท.ยืนยัน ไม่ปรับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ สัปดาห์นี้ แม้ราคาในตลาดโลกจะปรับลง 4-5 ดอลลาร์/บาเรล ต่อเนื่อง 2 วันซ้อน และค่าการตลาดอยู่ในระดับต่ำ อ้างไม่มั่นใจสถานการณ์สัปดาห์หน้า ส่วนการปรับลดราคาก๊าซ “แอลพีจี-เอ็นจีวี” เพื่อให้สะท้อนต้นทุนจริง ปตท.เป็นผู้รับภาระกรณีนำเข้าสูงถึง 8 พันล้าน ซึ่งได้ลงบัญชีในฐานะเจ้าหนี้ไปแล้ว หากรัฐบาลนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาทยอยชำระโดยไม่จ่ายดอกเบี้ย ก็จะไม่กระทบต่อรายได้แสนล้านในปีนี้ คาดต้นทุนบริหารที่ผิดพลาด โดนผลักภาระให้ประชาชนตามเคย
วันนี้ (09 มกราคม 2552) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ ปตท.จะยังไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมัน แม้ค่าการตลาดจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยมีค่าเฉลี่ยประมาณ 50-70 สตางค์ต่อลิตรก็ตาม ล่าสุด มีข่าวดีน้ำมันตลาดโลกลดลง 4-5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่หากราคาตลาดโลกสัปดาห์หน้าปรับขึ้นอีกก็คงจะต้องพิจารณาใหม่ว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นหรือไม่
ส่วนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซเอ็นจีวี จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร นายประเสริฐ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยในส่วนของแอลพีจี ขณะนี้ ปตท.เป็นผู้รับภาระกรณีนำเข้ามาให้ก่อนประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่ง ปตท.ได้ลงบัญชีในฐานะเจ้าหนี้ไปแล้ว ดังนั้น หากกระทรวงพลังงานจะนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาทยอยชำระโดยไม่จ่ายดอกเบี้ย ก็จะไม่กระทบต่อรายได้ปีนี้
ส่วนก๊าซเอ็นจีวีที่ตรึงราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่ปี 2546 นายประเสริฐ กล่าวว่า เดิมจะมีการปรับขึ้นปีนี้ในสัดส่วนไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาดีเซล แต่หากไม่ปรับขึ้นเลย จะส่งผลกระทบต่อการขยายการลงทุนเพื่อบริการประชาชนในอนาคต เนื่องจาก ปตท.หรือผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจเข้ามาลงทุนขยายเครือข่ายเอ็นจีวี จะต้องชะลอการลงทุนใหม่ เพราะไม่มีผู้ประกอบการรายใดสามารถเข้ามาแบกรับภาระขาดทุนได้ตลอด
“เป็นที่ทราบดีว่าต้นทุนเฉลี่ยปีนี้จะสูงประมาณ 12 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ผ่านมา ปตท.รับภาระเรื่องนี้วงเงินสูงไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี ประกอบกับปีนี้ฐานะการทำธุรกิจของบริษัทพลังงานโดยรวมคงอยู่ในภาวะลำบากกว่าปีที่แล้ว เพราะมาร์จิ้นหรือกำไรของธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน ล้วนแต่มีภาระสูงขึ้น โดยเฉพาะการขาดทุนจากการสตอกน้ำมันในคลังที่มีภาระสูงมากจนทำให้ไตรมาส 4 ปี 2551 เกิดปัญหาขาดทุนและปี 2552 เป็นปีที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบเศรษฐกิจ บริษัทพลังงานก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย”
นายประเสริฐ ระบุว่า ทุกภาคส่วนมีภาระด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่า ประชาชน รัฐบาล กระทรวงการคลัง ปตท.ซึ่งคงจะต้องมีการพิจารณาว่าจะมีการจัดการเรื่องนี้ให้สมดุลได้อย่างไร โดยขณะนี้ ปตท.ยังไม่ได้จัดทำตัวเลขว่าควรจะปรับขึ้นเอ็นจีวีเท่าใด และเมื่อไร โดยจะต้องหารือกับรัฐบาลก่อน
นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงการลงนามสัญญาเงินกู้ระหว่างบริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย และธนาคารออมสิน วงเงิน 4,250 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการบิสฟีนอลเอ โดยระบุว่า เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการฟีนอล ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว ใช้เงินลงทุนรวม 8,500 ล้านบาท มาจากกลุ่มธนาคาร 4,250 ล้านบาท ที่เหลือมาจากผู้ถือหุ้น ได้แก่ ปตท. บริษัท ปตท.เคมีคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ โครงการบิสฟีนอลเอ เป็นการผลิตเม็ดพลาสติกวิศวกรรมที่มีคุณค่าสูงใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ คอมพิวเตอร์ แผ่นซีดี-ดีวีดี มีกำลังการผลิต 150,000 ตันต่อปี คาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จกลางปี 2553