xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.เชือด 3 บิ๊กคลัง “คุณหญิงทิฟฟี่” ผิดวินัยร้ายแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิ้นสุดยุคทักษิณ! เปรียบสุนัขตายเห็บแตกกระเจิง ป.ป.ช.ประเดิมเชือดบิ๊กคลังโชว์ 3 รายรวด ฟันอาญา ม.157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีแต่งตั้ง 4 รองอธิบดีสรรพากรมิชอบไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2544 “สมใจนึก-สมหมาย-ศุภรัตน์” รอดยาก แถมพ่วง “ทิพาวดี” อดีตเลขาฯ ก.พ.ผิดวินัยร้ายแรง

วานนี้ (14 ม.ค.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาต่อ นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร และเป็นคณะกรรมการคัดเลือกแต่งตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากร ที่ไม่เป็นธรรม กำหนดตัวบุคคลไว้ล่วงหน้า ทั้ง นายสมใจนึก เองตระกูล นายสมหมาย ภาษี นายวีระ ไชยธรรม และ นายเมธี ภมรานนท์ มีความผิดอาญาด้วย

พร้อมกันนี้ ป.ป.ช.ยังได้ส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อเอาผิดทางวินัย และส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา กรณีกล่าวหาคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9 (กระทรวงการคลัง) โดยระบุว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9 (กระทรวงการคลัง) ประกอบด้วย นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลังขณะนั้น ประธานคณะกรรมการ นายสมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลัง ขณะนั้น นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมสรรพากร นายวีระ ไชยธรรม ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.และ นายเมธี ภมรานนท์ ผู้แทน ก.พ.ใน อ.ก.พ.กระทรวงการคลัง

กรรมการได้ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9 (กระทรวงการคลัง) และพิจารณาคัดเลือกข้าราชการ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร จำนวน 4 อัตรา โดยมีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก จำนวน 10 ราย มีคุณสมบัติครบถ้วน 9 ราย ซึ่งกรมสรรพากรได้เสนอรายชื่อ 5 ราย และสมัครด้วยตนเอง 4 ราย คณะกรรมการคัดเลือก ได้ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นสมควรให้แต่งตั้งผู้สมัครที่กรมสรรพากรเสนอ จำนวน 4 ราย ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร โดยมิได้ปฏิบัติตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ด่วนที่สุด ที่ นร 0701/ว 9 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 ที่กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือก พิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง จำนวนไม่เกิน 3 ชื่อ/ตำแหน่ง พร้อมทั้งระบุเหตุผลของความเหมาะสมของบุคคลในแต่ละตำแหน่ง เพื่อเสนอให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 พิจารณา และต่อมากระทรวงการคลังได้มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร ตามที่เสนอ

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว ได้มีผู้สมัครที่ได้รับความเสียหายจากการพิจารณาคัดเลือกดังกล่าว ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา โดยเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ดำเนินการคัดเลือกไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือสำนักงาน ก.พ.ด่วนที่สุด ที่ นร 0701/ว 9 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 ทั้งไม่เป็นไปตามกระบวนการเลือกสรรนักบริหารเพื่อการแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี

นอกจากนี้ มีการกระทำในลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สมัคร จนได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร จากพฤติการณ์ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังกล่าว เชื่อว่าการดำเนินการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร (นักบริหาร 9) ได้มีการกำหนดตัวบุคคลที่สมควรแต่งตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว อันไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้สมัครด้วยตนเองรายอื่น จึงทำให้คำสั่งแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายสมใจนึก นายสมหมาย นายศุภรัตน์ และนายวีระ มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ส่วนนายเมธี ซึ่งในขณะกระทำผิดได้พ้นจากราชการไปแล้ว ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน มีมูลเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 นอกจากนี้ นายศุภรัตน์ ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณีต่อไป

**คุณหญิงทิฟฟี่ ผิดวินัยร้ายแรง

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังมีมติส่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการและขั้นตอนการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่ให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9 และกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการคัดเลือกไม่เป็นไปตามมติ ครม.ต่ออัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา

ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับเรื่องกล่าวหาคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.โดยระบุว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีมีหนังสือสำนักงาน ก.พ.แจ้งเวียนไปยังส่วนราชการ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการและขั้นตอนการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9 และกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการคัดเลือกไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ฟังได้ว่า คุณหญิงทิพาวดี ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.ได้เสนอเรื่องระบบนักบริหารระดับสูงต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบและอนุมัติให้นำระบบดังกล่าวมาใช้ในราชการพลเรือนไทย โดยสำนักงาน ก.พ.จะจัดทำบัญชีของผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงกลุ่มที่ 1 (นักบริหาร 9) ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน ก.พ.นำระบบนักบริหารระดับสูงดังกล่าวมาใช้ในราชการพลเรือน โดยในระยะแรกให้ใช้บัญชีเพื่อการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544

คุณหญิงทิพาวดี ในฐานะเลขาธิการ ก.พ.ได้ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ด่วนที่สุด ที่ นร 0701/ว 9 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 เวียนแจ้งส่วนราชการต่างๆ เพื่อดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ 9 เพิ่มเติม นอกเหนือจากหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และจากหลักเกณฑ์ตามหนังสือเวียน ว.9 ดังกล่าว ทำให้มีผู้ที่ได้รับความเสียหายได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง จนในที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่า การที่สำนักงาน ก.พ.กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมให้ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงที่ ก.พ.รับรอง รวมทั้งให้ส่วนราชการที่มีตำแหน่งว่างสามารถเสนอชื่อข้าราชการให้สมัครเข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูง (ผู้บริหาร 9) ได้ด้วยนั้น เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกสรรผู้บริหารระดับสูง กลุ่มที่ 1 (นักบริหาร 9) ไม่ชอบด้วยมติคณะรัฐมนตรี และการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังกล่าวไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหาร ดังนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลจากการกระทำของ คุณหญิงทิพาวดี ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ได้สร้างความเสียหายแก่คณะรัฐมนตรี และระบบราชการในด้านการบริหารงานทรัพยากรบุคคลอย่างร้ายแรง ส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงในด้านข้อกฎหมาย ทำให้เกิดการยกเลิกเพิกถอนหลักเกณฑ์ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ว.9 และคำสั่งทางการปกครองที่ออกโดยอาศัยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้สถานภาพความเป็นข้าราชการและการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรง การกระทำของคุณหญิงทิพาวดี จึงเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคสอง

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และส่งไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น