xs
xsm
sm
md
lg

ปปช.ฟันอาญา3บิ๊กคลัง"ทิพาวดี"ผิดวินัยร้ายแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยุคทักษิณเสื่อมอำนาจ ป.ป.ช.ทางสะดวก ประเดิมเชือด 3 บิ๊กคลัง เล่นถึงอาญา ม.157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ "สมใจนึก-สมหมาย-ศุภรัตน์" อ่วม กรณีแต่งตั้ง 4 รองอธิบดีสรรพากรมิชอบไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2544 ขณะที่ "ทิพาวดี" ในฐานะเลขาฯ ก.พ.ในขณะนั้น โดนฟันผิดวินัยร้ายแรง

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วานนี้ (14 ม.ค.) นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป.ป.ช. ในฐานะโฆษกแถลงผลการประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับเรื่องกล่าวหาคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เลขาธิการก.พ.ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีมีหนังสือสำนักงาน ก.พ.แจ้งเวียนไปยังส่วนราชการโดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นักบริหาร 9 และกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการคัดเลือกไม่เป็นไปตามมติ ครม. และกล่าวหานายสมใจนึก เองตระกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง กับพวก ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9 (กระทรวงการคลัง) ดำเนินการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากรโดยมิชอบ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโดยมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
คณะกรรมการป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคุณหญิงทิพาวดี ได้นำเสนอเรื่องระบบนักบริหารระดับสูงต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ และอนุมัติให้นำระบบดังกล่าวมาใช้ โดยสำนักงาน ก.พ.จะจัดทำบัญชีของผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูง กลุ่มที่ 1 (นักบริหาร 9 ) จากผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและผ่านการประเมิน โดยผู้ที่ผ่านการประเมินจะมีชื่ออยู่ในบัญชีนักบริหารและบัญชีจะมีอายุ 2 ปี ซึ่งที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2543 มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน ก.พ.นำระบบดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2544 แต่ในวันที่ 15 ส.ค. 2544 คุณหญิงทิพาวดีได้ ดำเนินการ ออกหนังสือเวียน แจ้งส่วนราชการเพื่อดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ 9 เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายและฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง จนในที่สุดศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า การที่สำนักงานก.พ.กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังกล่าวไม่ชอบด้วยมติ ครม.และไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ผ่านการประเมิน ดังนั้นหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2544 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
"คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าผลจากการกระทำของคุณหญิงทิพาวดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ได้สร้างความเสียหายแก่ ครม.และระบบราชการในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างร้ายแรง ส่งผลเสียหาย อย่างใหญ่หลวงในด้านข้อกฎหมาย และคำสั่งทางปกครองทำให้สถานภาพความเป็น ข้าราชการและการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรง การกระทำของคุณหญิงทิพาวดีจึงเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบราชการ มติ ครม.หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรค 2" โฆษก ป.ป.ช.กล่าว
ส่วนกรณีกล่าวหานายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลังขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9 (กระทรวงการคลัง) และพวกประกอบด้วย นายสมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากรขณะนั้น นายวีระ ไชยธรรม ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ. และนายเมธี ภมรานนท์ ผู้แทน ก.พ.ในอ.ก.พ.กระทรวงการคลัง ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ โดยทุจริตในการคัดเลือกข้าราชการ เพื่อดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งเรื่องนี้มีผู้ได้รับความเสียหายจากการคัดเลือก ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด พิพากษาว่าการดำเนินการคัดเลือกไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สมัคร โดยพฤติการเชื่อได้ว่ามีการกำหนดตัวบุคคลไว้ล่วงหน้าแล้วจึงไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครรายอื่น จึงทำให้คำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของนายสมใจนึก นายสมหมาย นายศุภรัตน์ และนายวีระ มีมูล ถือเป็นความผิดอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ส่วนนายเมธี ซึ่งในขณะกระทำผิดได้พ้นจากราชการไปแล้ว มีมูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 นอกจากนี้ นายศุภรัตน์ยังมีมูลวามผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการด้วย
คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณีต่อไป
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ข้าราชการว่าผิดวินัยร้ายแรง อ.ก.พ.กระทรวงต้องมีมติให้ไล่ออก หรือปลดออก จากราชการภายใน 30 วันนับแต่ได้รับเรื่องและแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบภายใน 15 วัน(มาตรา 93) และถ้าเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ต้องถูกไล่ออกสถานเดียวตามมติคณะรัฐมนตรี
กรณีดังกล่าวข้าราชการกรมสรรพากร 4 ราย ประกอบด้วย นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา นาย ช.นันท์ เพ็ชญไพศิษฎ์ นายวิชัย จึงรักเกียรติ และนางจันทิมา สิริแสงทักษิณ ส่วนผู้ทำหนังสือร้องเรียนประธาน ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2550 คือนายไพรัช สหเมธาพัฒน์ อดีตข้าราชการระดับ 9 กรมสรรพากร ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากรในครั้งนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น