xs
xsm
sm
md
lg

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ยุบสภาได้ไหม?

เผยแพร่:   โดย: วัชรา หงส์ประภัศร (ส.ส.ร. 50)

เมื่อศาลฎีกาสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย ทำให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นกรรมการบริหารและ ส.ส.ระบบสัดส่วนของพรรคพลังประชาชนพ้นสภาพกรรมการบริหาร และ ส.ส.ระบบสัดส่วนของพรรคพลังประชาชน จะต้องหยุดทำกิจกรรมทางการเมืองทันทีรวมทั้งต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดรวมทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

เมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามนายกรัฐมนตรีไปด้วย แต่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

มีปัญหาถกเถียงกันว่า นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีซึ่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้น จะมีอำนาจยุบสภาฯ หรือไม่

กรณีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เพราะขาดคุณสมบัติที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบและนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ประกอบกับไม่มีการแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีไว้ล่วงหน้าเผื่อเกิดเหตุการณ์นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทน โดยมติของคณะรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 10 วรรค4 ที่ว่า

“ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพราะนายกรัฐมนตรีตาย ขาดคุณสมบัติ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง หรือวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่ง ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือมีแต่มีอาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่” แทน

การเลือกนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล คงไม่ได้คำนึงถึงว่า นายชวรัตน์มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ และคงไม่ได้คิดว่าภารกิจที่นายชวรัตน์พึงมีต่อไปนั้นมีความสำคัญเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้คำนึงว่าคำสั่งที่นายชวรัตน์ จะต้องออกนั้นเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งมีความสำคัญแก่การบริหารราชการแผ่นดินเพียงใด หรือเป็นเพราะความบกพร่อง ไม่รอบคอบ และมีความรู้ไม่เพียงพอ ก็อาจเป็นได้ จึงไม่ได้ตรวจสอบว่าจะต้องมีมติเลือกรองนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และต้องเป็น ส.ส.ที่ดำรงฐานะเป็น ส.ส.อยู่ภายหลังคำสั่งยุบพรรค เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่จะปฏิบัติหน้าที่แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่าถ้าได้ตรวจสอบกันอย่างจริงจังจะต้องมีตัวบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่ต้องห้ามดังกล่าวอยู่แน่นอน หรือหากชั้นรองนายกรัฐมนตรีไม่มีก็อาจเลือกเฟ้นต่อไปถึงผู้ที่เป็นรัฐมนตรีก็ได้

น่าเสียดายที่คณะรัฐมนตรีชุดที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในช่วงนี้ มิได้แต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเป็น ส.ส.มาเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี

ซึ่งจะยังให้เกิดความเสียหายแก่บรรดาคำสั่งปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดินที่นายกรัฐมนตรีผู้นั้นปฏิบัติ ทำให้สิ่งที่ทำไปใช้ไม่ได้ หรือไม่มีผลตามกฎหมาย

ส่วนอำนาจในการทูลเกล้าฯ เสนอพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบสภาฯ ก็เช่นเดียวกัน นายชวรัตน์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ก็ย่อมไม่มีอำนาจกระทำได้ เพราะนายชวรัตน์ ขาดคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 171 วรรค 2 จึงหาอาจใช้อำนาจดังกล่าวได้ไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น