ตรัง – นายอำเภอห้วยยอดมีคำสั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากคมพ้นจากตำแหน่งหลังจาก สตง.ตรวจพบมีการทุจริตในหลลายโครงการ
จากกรณีที่มีประชาชนส่งหนังสือร้องเรียนไปถึงสำนักการตรวจเงินแผ่นดิน ภูมิภาคที่ 14 (นครศรีธรรมราช) เพื่อร้องเรียนกล่าวหาว่า นายเวียน สิทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปากคม อำเภอห้วยยอด ได้บริหารงานและจัดทำ 2 โครงการ คือ โครงการบุกเบิกถนนสายเลียบไฟฟ้าแรงสูง หมู่ที่ 5 ซึ่งคู่สัญญาเป็นบุตรเขยของ นายเวียน โดยจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แล้วใช้เครื่องจักรกลของตนเองด้วยงบประมาณที่สูงเกินจริง กับโครงการก่อสร้างอาคารพัสดุ หมู่ที่ 6 ซึ่งคู่สัญญาก็คือบุตรเขยของนายเวียนอีกเช่นกัน
ทั้งนี้ หลังจากทางสำนักการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 14 (นครศรีธรรมราช) รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวแล้ว ได้แจ้งให้อำเภอห้วยยอด ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า นายเวียน สิทธิชัย นายก อบต.ปากคม เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับ อบต.ปากคม ตามมาตรา 64/2 (3) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พ.ศ.2537 และแก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่อย่างไร
ต่อมา นายวิสูตร จันทร์ศิริกาญจน์ นายอำเภอห้วยยอด ก็ได้มีคำสั่งอำเภอห้วยยอด แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา 1 ชุด ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า โครงการก่อสร้างอาคารเก็บพัสดุ หมู่ที่ 6 ตำบลปากคม ระบุสัญญาจ้างเลขที่ 39/2550 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2550 เป็นคู่สัญญาระหว่าง อบต.ปากคม โดย นายเวียน กับบุตรเขยของ นายเวียน จริง งบประมาณก่อสร้าง 621,500 บาท
ส่วนโครงการบุกเบิกถนนสายเลียบไฟฟ้าแรงสูง หมู่ที่ 5 ตำบลปากคม ระบุสัญญาจ้างเลขที่ 62/2550 ลงวันที่ 14 กันยายน 2550 เป็นคู่สัญญาระหว่าง อบต.ปากคม โดย นายเวียน กับบุตรเขยของ นายเวียน อีกเช่นกัน งบประมาณก่อสร้าง 567,000 บาท และยังใช้เครื่องจักรกลของ นายเวียน จึงเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายตามมาตรา 64/2 (3) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พ.ศ.2537 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546 ด้วย
ท้ายสุด นายวิสูตร จันทร์ศิริกาญจน์ นายอำเภอห้วยยอด จึงมีคำสั่งให้ นายเวียน สิทธิชัย นายก อบต.ปากคม พ้นจากตำแหน่งย้อนหลังไป นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2550 ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครอง หากนายก อบต.ปากคม เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถยื่นฟ้องโต้แย้งต่อศาลปกครองสงขลาได้ ภายในระยะเวลา 90 วัน นับจากคำสั่งของนายอำเภอห้วยยอด ซึ่งลงวันที่ 30 กันยายน 2551