xs
xsm
sm
md
lg

เปิดที่ดินเกาะราชา-เชิงทะเล ต้นเหตุ"เหลิม"โดนอภิปราย-พันธมิตรฯไล่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ดินเกาะราชาแปลง 99 ไร่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าสภาพที่ดินยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมีต้นมะพร้าวและต้นไม้ตามธรรมชาติ
รายงาน
ศูนย์ข่าวภูเก็ต

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่เพียงแต่ถูกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา กรณีที่สั่งการให้อธิบดีกรมที่ดิน ให้การช่วยเหลือคนสนิท ที่มีที่ดินอยู่บนเกาะราชาใหญ่ และที่ดินของบริษัท สยามเจ้าพระยาแลนด์ จำกัด จำนวน 3 แปลง ที่ จ.ภูเก็ต เท่านั้น และเมื่อตัดสินใจลงมาดูสภาพที่ดิน ทั้ง 3 แปลงด้วยตัวเอง ระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม กลับถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ใน 3 จังหวัดอันดามัน ขับไล่ตั้งแต่เดินทางมาถึงจังหวัดกระบี่ จนต้องยกเลิกภารกิจกลับกรุงเทพฯตั้งแต่เช้า

ที่ดินทั้ง 3 แปลง ที่เป็นปัญหาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถูกอภิปรายและถูกขับไล่ อยู่บนเกาะราชาใหญ่ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต จำนวน 2 แปลง ประกอบด้วย ที่ดินน.ส.3 เลขที่ 240 เนื้อที่ 48 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ได้ออกให้แก่นายแพทย์เกียรติ ญาณไพศาล เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2519 โดยอาศัยหลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 240 หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งนายแพทย์เกียรติ ได้ยื่นคำขอผ่อนผันแจ้งการครอบครอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2513 และได้ยื่นคำขอรับรองทำประโยชน์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2515 ต่อมานายแพทย์เกียรติ ได้ขายให้แก่บริษัท ราชาใหญ่ ไอซ์แลนด์ จำกัด ปัจจุบันมีชื่อบริษัท ชัยสุข จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน

แปลงที่ดินน.ส. 3 เลขที่ 286 หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 99 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ออกให้แก่บริษัท ราชาใหญ่ไอซ์แลนด์ จำกัด เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2534 โดยไม่มีหลักฐานตามมาตรา 59 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ปัจจุบันมีชื่อบริษัท ชัยสุข จำกัด เป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์

ปัญหาของที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้ เกิดขึ้นจนนำไปสู่การตรวจสอบการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ สืบเนื่องมาจากบริษัท ราชาใหญ่ไอซ์แลนด์ จำกัด เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในขณะนั้น ได้นำที่ดินทั้ง 2 แปลง ลงประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อเปิดประมูลขาย ทำให้เป็นที่กังขาถึงที่มาของเอกสารสิทธิที่ดิน เพราะมีชาวบ้านที่มีที่ดินบนเกาะราชากว่า 70 รายไม่สามารถออกเอกสารสิทธิที่ดินได้ ชาวบ้านบางคณฑี จึงได้ร้องขอความเป็นธรรมขอออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกินบนเกาะราชาใหญ่ กรมที่ดินจึงขอให้จังหวัดภูเก็ตตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ให้สรุปข้อคิดเห็นพร้อมทั้งส่งเอกสารหลักฐานต่างๆให้กรมที่ดินพิจารณาต่อไป

ขณะที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2543 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 ได้พิจารณาเอกสารสิทธิ น.ส.3 ของที่ดินทั้ง 2 แปลง จากเอกสารหลักฐานของส่วนราชการแล้วเห็นว่าเอกสารดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้มีมติให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

จากนั้นจังหวัดภูเก็ต ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในปี 2544 ซึ่งคณะกรรมการฯมีความเห็นให้ดำเนินการตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีออกเอกสารสิทธิที่ดินทั้ง 2 แปลง โดยคาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ ให้รังวัดกันแนวเขตที่ดินประเภทป่าไม้ ที่ชายหาด ที่หินริมทะเล ออกจากน.ส.3 ที่ดินทั้ง 2 แปลง เพื่อให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หมวด 2 หนังสือรับรองการทำประโยชน์ข้อ 5 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น
ที่ดินแปลง 48 ไร่ที่เริ่มมีการพัฒนาก่อสร้างเกิดขึ้น
กล่าวคือ เมื่อได้มีการพิสูจน์การทำประโยชน์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2497) ก็ให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้ และในการพิสูจน์การทำประโยชน์จะต้องปรากฏว่า ได้มีการครอบครองและทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพที่ดินในท้องถิ่น ตลอดจนสภาพของกิจการที่ได้ทำประโยชน์แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 กรมที่ดินได้แจ้งการพิจารณามายังจังหวัดภูเก็ต ว่า ที่ดินทั้ง 2 แปลงได้มีการครอบครองและทำประโยชน์ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินบังคับ ที่ดินดังกล่าวไม่เป็นที่หวงห้าม การออกน.ส. 3 ทั้ง 2 แปลงจึงเป็นไปตามขั้นตอนระเบียบของกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว น.ส.3 ทั้ง 2 แปลงจึงออกไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีกรณีที่ต้องดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และหากหน่วยงานใดเห็นว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ให้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล

ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 11837 เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นที่ดินของบริษัท สยามเจ้าพระยาแลนด์ จำกัด กรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2551 ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว เนื่องจากโฉนดที่ดินเลขที่ 11837 หน้าสำรวจ 766 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 71 ไร่ 63 ตารางวา (ปัจจุบันได้แบ่งแยกโฉนดในนามเดิมออกไป 1 แปลง เป็นโฉนดเลขที่ 31311 เนื้อที่ 54 ไร่ 2 งาน 83 ตารางวา ทำให้โฉนดเลขที่ 11837 เหลือเนื้อที่ดิน 16 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา) ออกให้แก่บริษัท สยามเจ้าพระยาแลนด์ จำกัด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2542 จากหลักฐานน.ส.3 ก. เลขที่ 1576 เนื้อที่ 71 ไร่ 53 ตารางวา

น.ส.3 ก.เลขที่ 1576 ดังกล่าวได้รังวัดเปลี่ยนมาจากน.ส.3 เลขที่ 545/476 หมู่ที่ 4 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 58 ไร่ 87 ตารางวา ซึ่งปัจจุบันมีชื่อบริษัท สยามเจ้าพระยาแลนด์ จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เป็นเอกสารสิทธิที่ออกไปชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวออกทับทางสาธารณะ และที่รกร้างว่างเปล่า ตามประกาศอำเภอถลาง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2527 และเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 กรมที่ดินได้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองเนื่องจากบริษัท สยามเจ้าพระยาแลนด์ได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเพิกถอน อำเภอถลางและนายกอบต.เชิงทะเลได้อุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่สั่งไม่เพิกถอนที่ดินแปลง 16 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

ก่อนหน้านี้ บริษัท สยามเจ้าพระยาแลนด์ ได้ฟ้องร้องผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายอำเภอถลาง ซึ่งศาลได้ตัดสินให้บริษัทและบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว เนื่องจากการพิจารณาพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว บริษัทไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่า เนื้อที่ดินที่เพิ่มขึ้นมาจากการออกน.ส.3 ก.ที่ผิดจากรูปแผนที่เดิมได้มาอย่างไร เนื่องจากที่ดินน.ส.3 ก เลขที่ 1576 มากกว่าน.ส.3 ก.เลขที่ 545/476 12 ไร่ 3 งาน 66 ตารางวา และบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ จนถึงขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาอุทธรณ์

ดังนั้น จะเห็นว่าคำสั่งไม่เพิกถอนที่ดินทั้ง 3 แปลงของกรมที่ดิน ขัดกับความเห็นของคณะกรรมการในระดับจังหวัดอย่างกรณีของที่ดินเกาะราชา ที่คณะกรรมการระดับจังหวัดต้องการให้กันพื้นที่ป่าไม้ ชายหาดและโขดขิน แต่กรมที่ดินไม่ฟังยืนยันว่าเอกสารสิทธิ ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมที่ดินของบริษัท สยามเจ้าพระยาแลนด์ ก็เช่นกัน ศาลมีคำสั่งให้บริษัทออกจากที่ดิน เพราะไม่สามารถชี้แจงที่มา ของที่ดินที่เพิ่มขึ้นได้ แต่กรมที่ดินก็ยืนยันว่าการออกเอกสารสิทธิถูกต้องอีกตามเคย
กำลังโหลดความคิดเห็น