xs
xsm
sm
md
lg

คำสั่งศาลปกครอง ชี้ปลดบอร์ด อภ.ตามอำเภอใจ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดคำสั่งศาลปกครองฉีกหน้า “ไชยา” ให้บอร์ด อภ.ชุดเดิมทำงานต่อ ส่วนบอร์ดชุดใหม่ต้องยุติการทำงานหน้าที่ ชี้ปลดบอร์ดต้องมีเหตุผลสมควร ไม่เช่นนั้นถือเป็นการใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ.
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2551 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 919/2551 เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระหว่าง นพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ดร.จงดี ว่องพินัยรัตน์ ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ว่าที่พันตรี สมบัติวงศ์คำแหง ผู้ฟ้องคดีที่ 4 นายชำนาญ พิเชษฐพันธ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 5 กับ คณะรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่ง ของคณะรัฐมนตรีที่มีมติเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551 เรื่อง การตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมที่มีมติให้ประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมจำนวน 8 คน ที่เหลือพ้นจากตำแหน่งและอนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในองค์การเภสัชกรรมชุดใหม่ จำนวน 14 คน และคำสั่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2551 เรื่องการแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมเพิ่มเติม และตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ลงวันที่ 2 มิ.ย.2551 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

เนื่องมาจากศาลได้ตรวจพิจารณาคำฟ้อง คำขอทุเลาการบังคับตามกฎหมาย หรือคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งเอกสารอื่นๆ และได้ตรวจพิจารณาบทกฎหมายและกฎที่สำคัญแล้ว เห็นว่า แม้ว่ามาตรา 18 วรรคสองของ พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม ให้รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งหรือถอดถอนประธานกรรมการและกรรมการ และมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการและกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระ เมื่อ 1.ตาย 2.ลาออก 3.คณะรัฐมนตรีให้ออก 4.ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม โดยมิได้บัญญัติเหตุที่คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ถอดถอนประธานและกรรมการออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครอง เพราะมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ ดังนั้น การถอดถอนหรือการให้ออกจากตำแหน่งต้องมีเหตุผลเสมอและชอบด้วยกฎหมาย แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงเหตุแห่งการถอดถอน จึงเป็ดุลยพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามข้อเท็จจริงและเหตุผลตามสมควร การใช้อำนาจตามอำเภอใจย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อพิจารณาแล้ว หากประธานกรรมการหรือกรรมการว่างลงกรณีที่มีการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีสามารถที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการเข้าแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยไม่จำเป็นต้องให้ประธานกรรมการและกรรมการที่เหลือพ้นจากตำแหน่งแต่ย่างใด ดังนั้น การที่กรรมการในองค์การเภสัชกรรมลาออกจำนวน 6 คน ถือเป็นการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระด้วยการลาออก โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าและกรรมการอื่นรวม 8 คน พ้นจากตำแหน่งและไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการที่เหลือทั้ง 8 คน มีความบกพร่องอย่างใด

ส่วนข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่า ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2551 ให้องค์การเภสัชกรรมจ่างเงินค่าตอบแทนให้แก่ พลโท นพ.มงคล จิวสันติการ จำนวน 1,140,965.34 บาท เนื่องจากมีการบอกเลิกสัญญาจ้างนั้น เหตุดังกล่าวเกิดภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551 จึงอาจรับฟังได้ ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรีที่ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ให้พ้นจากตำแหน่งจึงน่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย

ประธานกรรมการและกรรมการองค์กรเภสัชกรรมมีวะระการดำรงตำแหน่งห้าปี ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.2549 หากปล่อยไว้เนิ่นช้าออกไปย่อมจะทำให้วาระการดำรังตำแหน่งผู้ฟ้องคดีเหลือน้อยหรือสิ้นสุดลง หากคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปน่าจะจะทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ทั้งการที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับเพื่อไม่ให้คำสั่งตามมติเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551 ก็ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น